น้ำขิง สรรพคุณ งานวิจัยทางการแพทย์

หน้าแรกประโยชน์ของขิงน้ำขิง สรรพคุณ งานวิจัยทางการแพทย์
สรรพคุณน้ำขิง

ขิง (Ginger) มีชื่อทางวิทยาศาสตร์คือ Zingiber officinale Roscoe เป็นพืชสมุนไพรที่มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว โดยการนำส่วนของเหง้ามาใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ทั้งในด้านการปรุงอาหาร เป็นเครื่องเทศ เครื่องสำอาง ด้านสมุนไพรการแพทย์ และเครื่องดื่ม

ปัจจุบันนี้การเริ่มต้นวันใหม่ด้วยการดื่ม น้ำขิง เป็นเรื่องปกติของคนทั่วไป เพราะน้ำขิงถือเป็นเครื่องดื่มสมุนไพรที่กลายเป็นเครื่องดื่มแก้วโปรดของคนรักสุขภาพที่สามารถดื่มได้ทุกช่วงเวลา โดยไม่จำเป็นต้องควบคุมปริมาณการดื่มว่าต้องดื่มน้ำขิงวันละกี่แก้ว ที่สำคัญ ประโยชน์ของน้ำขิง สรรพคุณ งานวิจัยทางการแพทย์ ต่างมีมากมายที่เราควรรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับสุขภาพร่างกายของคุณ เมื่อคุณดื่มน้ำขิงทุกวัน

ชัวร์ก่อนแชร์ รวมสรรพคุณของขิงจากงานวิจัยทางการแพทย์
 

1. ขิงมีส่วนช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันร่างกายให้แข็งแรง
ขิง มีสารสำคัญคือ จินเจอร์รอล (gingerol) [1] ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระชนิดหนึ่งในกลุ่มฟีนอลที่มีส่วนสำคัญในการช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย [2] เนื่องจากมีงานวิจัยที่วิเคราะห์สารสำคัญในขิงว่าดีจริง จึงมีการพัฒนาขิงให้เป็นผลิตภัณฑ์เพื่อใช้ในภาวะที่ต้องการต้านอนุมูลอิสระ เพราะสารต้านอนุมูลอิสระ (antioxidants) ที่ทรงพลังของขิง ช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายนั่นเอง [3]

ภูมิคุ้มกัน (immune) เปรียบเสมือนเกราะป้องกันต้านโรค ซึ่งความจริงแล้วเราอยู่กับเชื้อโรครอบตัวตลอดเวลา ในแต่ละวันอาจสัมผัสกับเชื้อโรคมากมาย แต่ทำไมเราถึงไม่เจ็บป่วย หรือนาน ๆ จะเจ็บป่วยสักที ก็เพราะร่างกายเรามีระบบภูมิคุ้มกันเซลล์เม็ดเลือดขาวที่เปรียบเสมือนเกราะป้องกันเชื้อโรค ถ้าเกราะป้องกันแข็งแรง เชื้อโรคก็ยากที่จะเข้ามา แต่หากช่วงใดร่างกายอ่อนแอก็จะส่งผลไปที่ระบบภูมิคุ้มกันด้วย เป็นเหตุให้บางครั้งเราก็ป่วยง่ายป่วยบ่อย และเสี่ยงต่อการเป็นโรค ภูมิแพ้ ไวรัส โรคมะเร็ง โรคร้ายแรงต่าง ๆ ที่กำลังก่อตัวลุกลามจนเกิดเจ็บไข้ป่วยขึ้นมาได้
 

2. ขิงมีส่วนช่วยป้องกันไข้หวัดได้
ขิงเป็นหนึ่งในสมุนไพรที่กระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศให้ใช้ต้านไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 โดยมีฤทธิ์ทางยาไม่แพ้ยารักษาหวัด 2009 [4] เพราะขิงมีรสร้อน มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ [5] มีงานวิจัยพบว่า น้ำขิงแก่ต้มน้ำเดือดนาน 30 นาที ทำให้เม็ดเลือดขาวชนิด แมคโครฟาส จับกินไวรัสไข้หวัดใหญ่ได้ การดื่มน้ำขิงร้อนจะช่วยลดการสะสมของเชื้อไวรัสได้ดี 

จากการทดลอง น้ำขิงที่ได้จากการสกัดสามารถยับยั้งการเติบโตของเชื้อแบคทีเรียและพยาธิชนิดต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี อีกทั้งสารจินเจอร์รอล [1] ในขิงยังมีอานุภาพมากพอจะลดโอกาสติดเชื้อต่าง ๆ ของร่างกายได้โดยเฉพาะหากเราดื่มน้ำขิงเป็นประจำทุกวัน สารจินเจอร์รอลจะต่อสู้กับเชื้อไวรัสโรคหวัดและอาการไข้ได้อย่างเต็มที่ เราก็จะมีสุขภาพที่ดีห่างไกลจากโรคหวัดได้ง่าย ๆ [7] และอีกหนึ่งสารสำคัญในขิงคือ โชเกล (shogaol) ยังช่วยบรรเทาอาการไอ ตำรับยาที่มีขิงเป็นส่วนประกอบ หรือขิงในรูปแบบของเครื่องดื่มร้อนจะมีฤทธิ์แก้ไอ และรักษาอาการหวัดได้ [6] น้ำหอมระเหยจากขิงยังมีส่วนช่วยให้หายใจสะดวกมากขึ้นในช่วงที่เป็นหวัดคัดจมูก และยังมีข้อมูลจาก “ขิง สมุนไพรเพื่อการบำบัด” [12] หนึ่งในหนังสือชุดอาหารและสุขภาพ จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์สมิต ให้ความรู้ที่น่าสนใจดังนี้
  • หน้าที่ 63 “ขิงมีสรรพคุณที่เป็นประโยชน์ต่อการทำหน้าที่ของร่างกายในการต่อต้านโรคหวัด โรคไข้หวัดใหญ่ โรคติดเชื้อไวรัส โรคไอ โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง ตลอดจนโรคติดเชื้อที่ไม่รุนแรงทุกชนิด” 
  • หน้าที่ 64 “วงการแพทย์แผนปัจจุบันที่เพียบพร้อมไปด้วยอุปกรณ์และเครื่องไม้เครื่องมือในการวิจัยที่ทันสมัยยังยอมรับว่าขิงมีสรรพคุณดีเยี่ยมในการบำบัดอาการไอและรักษาโรคหวัด”
 

3. ขิงแก้คลื่นไส้ (เมารถ แพ้ท้อง) และช่วยเพิ่มน้ำนมในคุณแม่หลังคลอด
มีการศึกษาทางคลินิกบอกว่าขิงมีฤทธิป้องกันและบรรเทาอาการคลื่นไส อาเจียน จากการเมารถ เมาเรือ และอาการคลื่นไส้จากการตั้งครรภ์ได้ดี [6] จากการศึกษาพบว่าคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ แล้วดื่มน้ำขิงเป็นประจำ สามารถลดอาการคลื่นไส้ได้อย่างมาก [10] และอีกหนึ่งการศึกษาที่พบว่า จากการสำรวจคุณแม่หลังคลอดของโรงพยาบาลบุรีรัมย์ ร้อยละ 70 มีปัญหาว่าน้ำนมน้อย น้ำนมไม่พอ ซึ่งเป็นอุปสรรคในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ 

น้ำขิง เป็นเครื่องดื่มสมุนไพรที่มีฤทธิ์อุ่นที่นิยมดื่มในช่วงระหว่างให้นมบุตร จึงมีส่วนช่วยทำให้ร่างกายอบอุ่นพร้อมกระตุ้นการไหลเวียนโลหิตและน้ำนมของคุณแม่ แต่เพื่อให้ได้ผลเต็มที่ ควรดื่มน้ำขิงก่อนให้นมลูกน้อยประมาณ 30 นาที จะช่วยส่งผลให้น้ำนมไหลดีขึ้น ช่วยนำพาสารอาหารต่าง ๆ ที่คุณแม่กินเข้าไป ไหลผ่านทางน้ำนมไปสู่ลูก และช่วยทำให้ลูกไม่ปวดท้อง [8] [9] ช่วยลดอาการท้องอืดท้องเฟ้อ ช่วยลดการบีบตัวของลำไส้และอาการปวดท้องเกร็งในเด็กได้อีกด้วย ยิ่งไปกว่านั้น น้ำขิงยังมีส่วนช่วยบรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียนของผู้ที่เพิ่งผ่าตัดและผู้ที่เพิ่งทำเคมีบำบัดมาได้ดีอีกด้วย [6]
 

4. ขิงช่วยปรับปรุงระบบย่อยอาหารและบรรเทาอาการท้องร่วง
สรรพคุณของขิงที่ใคร ๆ ต่างต้องเคยได้ยินคือ การบรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย ซึ่งมีงานวิจัยหลายชิ้นที่สนับสนุนและชี้ให้เห็นว่า การดื่มน้ำขิงสามารถส่งเสริมระบบการย่อยอาหารให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น [6] งานวิจัยบางชิ้นบ่งชี้ว่า สารประกอบทางเคมีอย่างซิงเจอโรน (Zingerone) สารประกอบสำคัญที่ได้จากการสกัดน้ำมันหอมระเหยในส่วนของเหง้าขิง มีฤทธิ์ให้รสชาติเผ็ดร้อนในแบบเฉพาะตัวนั้นมีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ และมีส่วนช่วยในการต้านเชื้อแบคทีเรียอีโคไล (E.coli) ที่เป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดโรคท้องร่วง ท้องเสียในเด็ก
 

5. ขิงมีส่วนช่วยควบคุมน้ำหนัก ลดน้ำตาล และต้านเบาหวานได้
ขิงมีสรรพคุณในการช่วยลดน้ำหนักได้ จากการศึกษาพบว่าน้ำขิงมีส่วนช่วยลดน้ำหนักตัว ช่วยลดอัตราส่วนเอวต่อสะโพกและอัตราส่วนสะโพกในผู้ที่มีน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วนได้ นอกจากนี้ ยังพบว่าน้ำขิงสามารถช่วยลดดัชนีมวลกาย (BMI) และระดับอินซูลินในเลือดได้ ซึ่งการมีระดับอินซูลินในเลือดสูงนั้นมีความสัมพันธ์กับโรคอ้วน

มีผลการศึกษาของงานวิจัยโดยชาวญี่ปุ่น L.K. Han ที่ถูกตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ Journal of the Pharmaceutical Society of Japan ในปี 2008 พบว่าขิงมีส่วนช่วยเพิ่มการทำงานของระบบเผาผลาญในร่างกาย ทำให้ร่างกายสามารถเผาผลาญไขมันได้มากขึ้นกว่าปกติ จึงมีส่วนช่วยลดน้ำหนักได้ และโครงการวิจัย “ฤทธิ์ต้านเบาหวานและลดความอ้วนของสารสกัดเหง้าขิงและสารประกอบหลัก” พบว่า ขิง มีฤทธิ์ต้านเบาหวานได้ โดยขิงสามารถเพิ่มการนำกลูโคสเข้าสู่เซลล์กล้ามเนื้อและเซลล์ไขมัน ซึ่งเป็นเนื้อเยื่อหลักในการนำน้ำตาลไปใช้เป็นพลังงาน และกระตุ้นให้เซลล์กล้ามเนื้อและเซลล์ไขมันนำน้ำตาลไปใช้เป็นพลังงานเพิ่มขึ้นนั่นเอง [13]
 

6. ขิงบรรเทาอาการอักเสบ
กระบวนการอักเสบจัดเป็นกลไกสําคัญในการป้องกันสิ่งแปลกปลอม หรือสิ่งที่จะทําให้เซลล์หรือเนื้อเยื่อของร่างกายได้รับบาดเจ็บ ผลของการอักเสบจะทำให้เกิดการกําจัดสิ่งแปลกปลอมหรือเชื้อโรคออกไป นอกจากนี้ยังกําจัดเซลล์ที่ได้รับบาดเจ็บหรือตายจากการเข้ามาของสิ่งแปลกปลอมดังกล่าว หากไม่มี กระบวนการอักเสบเกิดขึ้น ร่างกายจะไม่สามารถกําจัดสิ่งแปลกปลอมนั้นออกไปได้ เนื้อเยื่อจะเกิดการบาดเจ็บ โดยที่ไม่มีการซ่อมแซม ทําให้การทํางานของเนื้อเยื่อนั้น ๆ ผิดปกติไป อย่างไรก็ตาม กระบวนอักเสบมีผลเสียเกิดขึ้นได้ด้วยเช่นกัน หากเกิดการอักเสบมากเกินไป หรือเกิดการอักเสบแบบเรื้อรังเป็นเวลานาน จะเกิดการทําลายเนื้อเยื่อ ทําให้เกิดการทำงานของเนื้อเยื่อนั้นผิดปกติได้ [14]

การอักเสบอาจถูกแบ่งออกได้เป็น 2 แบบ คือ แบบเฉียบพลัน และ แบบเรื้อรัง [15]

การอักเสบเฉียบพลัน (acute inflammation) เป็นการต่อต้านวัตถุอันตรายของร่ายกายในระยะเริ่มแรก โดยเกิดการเคลื่อนที่ของพลาสมาและเม็ดเลือดขาวจากเลือดไปยังเนื้อเยื่อที่อักเสบ กระบวนการทางชีวเคมีที่เกิดขึ้นเป็นขั้นเป็นตอนนี้เองที่ทำให้เกิดการอักเสบ ซึ่งต้องอาศัยส่วนร่วมของระบบไหลเวียนโลหิต ระบบภูมิคุ้มกัน และเซลล์ต่าง ๆ ในเนื้อเยื่อที่เสียหาย 

การอักเสบเรื้อรัง (chronic inflammation) นำไปสู่การเปลี่ยนชนิดของเซลล์ที่นำเสนอในบริเวณอักเสบ และมีลักษณะพิเศษของการทำลายที่เกิดขึ้นพร้อมกับการรักษาเนื้อเยื่อจากกระบวนการอักเสบ

สาเหตุของการอักเสบ
  • การตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันแบบภาวะภูมิไวเกิน (hypersensitivity)
  • สิ่งแปลกปลอม (Foreign bodies) เช่น เศษดิน
  • สารพิษ (Toxins)
  • การระคายเคืองจากสารเคมี (Irritation)
  • การติดเชื้อจากจุลชีพก่อโรค (Infection by pathogens)
  • แผลไหม้ (Burns)
  • โรคความเย็นกัด (Frostbite)
  • การตายเฉพาะส่วน (Necrosis)
  • การบาดเจ็บทางกายภาพ การช้ำ หรือบาดแผล (Physical injury, blunt or penetrating)
  • รังสีแตกตัว (Ionizing radiation)

ขิงบรรเทาอาการอักเสบ
ขิงมีประสิทธิผลดีกว่ายาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่ สเตียรอยด์ เพราะขิงอุดมไปด้วยสารต้านการอักเสบและสารต้านอนุมูลอิสระสูง นอกจากนี้สารจินเจอร์รอล (Gingerol) ในขิงยังมีฤทธิ์รุนแรงกว่าแอสไพริน และช่วยต้านการอักเสบภายในร่างกาย ดังนั้นหากดื่มน้ำขิงเป็นประจำ ก็จะช่วยป้องกันการอักเสบในร่างกายได้อีกทางหนึ่ง [6] ยังมีอีกหนึ่งงานวิจัย [18] ที่สนับสนุนว่า จินเจอร์รอล (gingerol) สามารถลดกระบวนการ transcription ของ TNF-α, IL-2 mRNA และ IFN-γ mRNA ซึ่งเกี่ยวข้องกับการอักเสบและการตายของเซลล์ได้ (Rodrigues et al., 2014)
 

7. ขิงบรรเทาอาการของโรคข้อเสื่อม
โรคข้อเข่าเสื่อม (Osteoarthritis) เป็นปัญหาสุขภาพที่พบได้บ่อย ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเสื่อมของข้อต่อในร่างกาย และนำไปสู่อาการต่าง ๆ เช่น อาการปวดข้อและอาการข้อตึง โดยการศึกษาพบว่าผู้ที่เป็นโรคข้อเข่าเสื่อมแล้วดื่มน้ำขิง จะมีความเจ็บปวดในข้อต่อลดลง [16] และจากการศึกษาพบว่า 75% ของผู้ป่วยโรคข้อ มีอาการปวดและบวมลดลง ไปจนถึงหายปวด ซึ่งกลไกในการลดอาการปวดมาจากฤทธิ์ของขิงช่วยยับยั้งการสร้าง พรอสตาแกลนดิน (prostaglandin) สารเคมีที่มีคุณสมบัตคล้ายฮอร์โมนซึ่งรับผิดชอบต่อความเจ็บป่วยและอักเสบ ซึ่งกระบวนการจำกัดหรือยับยั้งการสร้างพรอสตาแกลนดินนี้ ดูเหมือนจะเหนือกว่าสารเคมีที่ชื่อ อินโดเมตาซิน สารเคมีที่วงการแพทย์แผนปัจจุบันผลิตเป็นยาต่อต้านการอักเสบ [12]
 

8. ขิงบรรเทาอาการปวดไมเกรน
อาการปวดศีรษะไมเกรนเป็นความผิดปกติทางระบบประสาทที่พบบ่อยและมีความเกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตที่ลดลงอย่างมาก [17] และส่วนประกอบของขิงมีผลต้านการอักเสบ ส่งเสริมการไหลเวียนของระบบเลือด และจะไปช่วยยับยั้งฮอร์โมนที่เกี่ยวกับการอักเสบ การดื่มน้ำขิงหรือขิงผงเป็นประจำ อาการปวดไมเกรนจะบรรเทาลง น้ำขิงสามารถใช้รักษาอาการปวดศีรษะได้ ทั้งชนิดปวดแบบสองข้างและข้างเดียวหรือไมเกรน ผู้ที่มีอาการปวดศีรษะบ่อย ๆ แนะนำให้ดื่มน้ำขิงเข้มข้นเป็นประจำ สารเคมีที่อยู่ในน้ำขิงจะสามารถปรับสารไอโคซานอยด์ (Eicosanoid) ทำให้อาการปวดศีรษะบรรเทาลง ซึ่งยังมีข้อมูลในการใช้ขิงเพื่อบรรเทาอาการปวดในร่างกาย  จึงถือได้ว่าขิงเป็นสมุนไพรอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ป่วยไมเกรน และหากใครชื่นชอบการดื่มน้ำขิงอยู่แล้ว ก็สามารถจิบน้ำขิงอุ่น ๆ เวลาปวดไมเกรนได้เช่นกัน [6]
 

9. ขิงช่วยขับลม บรรเทาอาการท้องอืด
โดยให้ดื่มน้ำขิงก่อนนอนจะช่วยบรรเทาอาการได้ สารประกอบฟีโนลิกในขิงมีส่วนช่วยบรรเทาอาการระคายเคืองในลำไส้ พร้อมทั้งยังมีฤทธิ์กระตุ้นการทำงานของระบบย่อยอาหาร นอกจากนี้ขิงยังมีฤทธิ์กระตุ้นการบีบตัวของกระเพาะอาหารและลำไส้อย่างอ่อน ส่งผลให้อาการท้องอืด แน่นท้อง และอาการท้องเฟ้อบรรเทาลงได้ [6]
 

10. ขิงยับยั้งโควิด 19
มีข้อมูลมากมายเกี่ยวกับการกินขิงเพื่อป้องกันหรือบรรเทาอาการในผู้ป่วยโควิด 19 โดยเฉพาะตามโรงพยาบาล ศูนย์พักคอย ที่มีผู้ป่วยโควิด 19 เข้าพักรักษาตัวอยู่ ก็จะมีน้ำขิงเป็นหนึ่งในเครื่องดื่มวางประจำการอยู่ที่เตียงของผู้ป่วยนั้น ๆ 

จริง ๆ แล้ว คุณประโยชน์ของขิงกับการป้องกันหรือบรรเทาอาการของผู้ป่วยโควิดนั้น ยังอยู่ในขั้นตอนของงานวิจัย  อาทิ [19] “งานวิจัยของมหาวิทยาลัยโดย Kanjanasirirat, P., Suksatu, A., Manopwisedjaroen, S. et al เรื่อง High-content screening of Thai medicinal plants reveals Boesenbergia rotunda extract and its component Panduratin A as anti-SARS-CoV-2 agents เผยแพร่ใน Scientific Reports ที่ระบุว่า ขิง เป็นสมุนไพรไทยอีกชนิดหนึ่งที่มีประสิทธิผลในการยับยั้งโควิด 19 ได้” และยังมีอีกหลายหน่วยงานที่กำลังวิจัยเรื่องขิงอยู่เช่นกัน “โดยเฟซบุ๊กกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ขิง เป็นอีกหนึ่งสมุนไพรที่มีคุณค่าต่อการนำมาปรับใช้ในการดูแลสุขภาพ ช่วยเสริมภูมิคุ้มกันให้กับร่างกายและช่วยเจริญอาหาร” และน้ำขิงน่าจะเป็นเครื่องดื่มอีกหนึ่งแก้วที่หลายคนดื่มแล้วรู้สึกดีสุด ๆ ไปเลย ดื่มแล้วรู้สึกโล่งรู้สึกดีที่ได้เลือกเครื่องดื่มที่มีประโยชน์ให้ร่างกาย หรืออย่างน้อยก็สร้างกำลังใจที่ดีให้ตัวเองในช่วงเวลาเจ็บป่วยจากอาการโควิด19 นั่นเอง
 

11. น้ำขิงช่วยรักษาอาการอาการปวดประจำเดือน [26]
เนื่องจาก จินเจอร์รอล และ โชกาออล สารออกฤทธิ์ทางชีวภาพของขิง [25] มีคุณสมบัติช่วยต้านการอักเสบที่เพิ่มขึ้น ลดหรือบรรเทาอาการปวด โดยไปยับยั้งการผลิตพรอสตาแกลนดินในร่างกาย [24] จึงมีส่วนช่วยบรรเทาอาการปวดประจำเดือนได้

อาการปวดประจำเดือนเกิดจากสารที่ออกฤทธิ์คล้ายฮอร์โมน ชื่อว่าพรอสตาแกลนดิน (prostaglandin) ซึ่งก่อตัวขึ้นที่เยื่อบุโพรงมดลูกระหว่างมีประจำเดือน พรอสตาแกลนดินทำให้กล้ามเนื้อบีบตัวและหดเกร็งคล้ายกับอาการเจ็บปวดขณะคลอดบุตร นอกจากนี้ยังทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ ท้องเสีย หากร่างกายหลั่งสารนี้ในปริมาณมากจะยิ่งเพิ่มความรุนแรงของอาการบีบรัด ทำให้รู้สึกปวดประจำเดือนยิ่งขึ้น [23]

มีผลการศึกษาจาก 7 งานวิจัย ที่รวมข้อมูลของผู้หญิงมากกว่า 600 คน ที่บริโภคขิง 750 – 2,000 มก. ในช่วง 3-4 วันแรกของการมีประจำเดือน และรู้สึกว่าอาการปวดประจำเดือนลดลง [20] และยังมีอีกหนึ่งงานวิจัยที่พบว่านักศึกษาหญิง 168 คน รับประทานขิง 200 มก. ทุก 6 ชั่วโมง แต่มีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับยาแก้ปวดประเภท Ibuprofen (Novafen), Acetaminophen และ caffeine ที่ช่วยลดอาการปวดประจำเดือน [22]
 

12. น้ำขิงบำรุงรักษาสุขภาพช่องปาก ลดกลิ่นปาก
เรียกได้ว่า การดื่มน้ำขิงในทุกวันมีส่วนช่วยทำให้รอยยิ้มของคุณสดใสได้ เพราะคุณสมบัติในการต้านเชื้อแบคทีเรียของขิง ช่วยลดปัญหากลิ่นปาก ช่วยขจัดคราบพลัคและแบคทีเรียสะสม และคุณสมบัติต้านการอักเสบของขิง สามารถทำให้อาการปวดฟันในครั้งต่อไปของคุณทนได้มากขึ้น บางคนถึงกับบอกว่า ขิงสามารถลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเหงือกได้ 

น้ำขิงมีสาร ราฟฟิโนส หนึ่งในสารออกฤทธิ์สำคัญในขิง มีส่วนช่วยป้องกันการสะสมของแบคทีเรียรอบฟันและเหงือก และต่อสู้กับการก่อตัวของน้ำตาลรอบ ๆ ฟัน การดื่มน้ำขิงบ่อย ๆ มีส่วนทำให้ ไบโอฟิล์ม หยุดการก่อตัว ซึ่งเป็นแบคทีเรียจอมดื้อที่เกาะติดกับพื้นผิว และเป็นสาเหตุหลักของการสะสมคราบพลัค หรืออาจนำไปสู่การมีฟันผุได้ในที่สุด สาร ราฟฟิโนส ในขิงยังมีส่วนช่วยบรรเทาอาการปวด บวม และการติดเชื้อที่เกี่ยวข้องกับอาการปวดฟัน ป้องกันโรคอักเสบ เช่น โรคปริทันต์ ซึ่งทำให้กระดูกและเนื้อเยื่อในปากของคุณลดลง ลบคราบจุลินทรีย์ ปกป้องคุณจากการติดเชื้อในช่องปาก [27]
 

13. น้ำขิงช่วยลดความเสี่ยงโรคมะเร็ง
จากการศึกษาทางเภสัชวิทยาทั้งในและต่างประเทศหลายฉบับ โดยขิงมีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่สำคัญในการต่อต้านโรคมะเร็ง [28] ซึ่งเป็นผลมาจากสารสำคัญในขิงอันได้แก่ จินเจอร์รอล (gingerol), โชกาออล (shogaol) ซึ่งเป็นส่วนที่ทำให้ขิงมีกลิ่นฉุนและมีรสเผ็ด [6]

จินเจอร์รอล (gingerol), โชกาออล (shogaol) มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งปอด H-1299 และเซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่ HCT-116 ได้ โดยกลุ่มของ โชกาออล (shogaol) จะมีฤทธิ์ดีกว่าในกลุ่ม จินเจอร์รอล (gingerol) โดยเมื่อเปรียบเทียบค่า IC50 ของ โชกาออล (shogaol) กับ จินเจอร์รอล (gingerol) จะมีค่า 8 และ 150 ไมโครโมล ตามลำดับ สำหรับการทดลองในเซลล์ murine macrophage RAW264.7 ที่ถูกกระตุ้นด้วย lipopolysaccharide พบว่าสาร โชกาออล (shogaol) ที่ความเข้มข้น 5 ไมโครโมล จะออกฤทธิ์ลดการอักเสบโดยยับยั้งการหลั่งกรด arachidonic ได้ดีกว่า จินเจอร์รอล (gingerol) ที่ความเข้มข้น 50 ไมโครโมล (ยับยั้งได้ 90% และ 30% ตามลำดับ) และ โชกาออล (shogaol) ที่ความเข้มข้น 5 ไมโครโมล ยังมีผลยับยั้งการสร้างไนตริกออกไซด์ได้ดีกว่า จินเจอร์รอล (gingerol) ที่ความเข้มข้น 35 ไมโครโมล [29] [30] [31]

ยังมีผลการศึกษาใน British Journal of Nutrition ที่ระบุว่า น้ำขิงมีคุณสมบัติยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งได้ เนื่องจากมีสารต้านอนุมูลอิสระสูง อีกทั้งในน้ำขิงยังมีฤทธิ์ต้านการอักเสบของเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกาย และยังมีสารเคมีธรรมชาติที่ไปช่วยกระตุ้นเอนไซม์กลูตาไธโน-เอส-ทรานสเฟอรเรส สารต้านอนุมูลอิสระชนิดหนึ่งที่จะชวยลดโอกาสเกิดเซลล์มะเร็งร้ายได้ [32]
 

14. น้ำขิงช่วยชะลอความแก่ ชะลอการเกิดริ้วรอย
ขิงเป็นอีกหนึ่งสมุนไพรที่มีคุณค่าต่อการนำมาปรับใช้ในการดูแลสุขภาพ เพราะขิงได้รับการศึกษาว่า สารออกฤทธิ์หลักในขิงคือจินเจอร์รอลและโชกาออลนั้นเป็นสารต่อต้านริ้วรอย [33] หรือที่เรียกว่าสารต้านอนุมูลอิสระคุณภาพสูง (อนุมูลอิสระเป็นหนึ่งในสาเหตุของการเสื่อมของเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกาย อันนำไปสู่การเกิดริ้วรอยความแก่ก่อนวัย) การดื่มน้ำขิงยังมีส่วนช่วยให้ร่างกายรู้สึกโล่ง ผ่อนคลาย หายเครียด ซึ่งความเครียดก็เป็นหนึ่งในสาเหตุของการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชันตามทฤษฎีการแก่ชราจากความเครียด [34]
 

15. น้ำขิงช่วยบำรุงตับ
นอกจากขิงจะให้ประโยชน์ต่อสุขภาพมากมายแล้ว ขิงยังถูกนำมาใช้เป็นยารักษาโรคตับได้อีกด้วย ผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลสุขภาพกล่าวว่า ขิงและบทบาทในการป้องกันโรคไขมันพอกตับมีความเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด โดยทั่วไปโรคไขมันพอกตับแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบหลัก ได้แก่ โรคไขมันพอกตับจากแอลกอฮอล์ และโรคไขมันพอกตับที่ไม่มีแอลกอฮอล์ (Non-alcoholic fatty liver disease; NAFLD) ซึ่งโรค NAFLD นี้เป็นโรคตับเรื้อรังที่พบได้บ่อยที่สุดกลุ่มหนึ่งทั่วโลก ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในผู้ที่เป็นโรคอ้วน เบาหวานชนิดที่ 2 และผู้ที่ไม่ได้ออกกำลังกาย

NAFLD ครอบคลุมความผิดปกติของตับที่หลากหลายตั้งแต่ภาวะไขมันพอกตับไปจนถึงโรคตับแข็งที่ถึงแม้ว่าโรคนี้จะไม่มีทางรักษาให้หายได้ แต่นักวิจัยเชื่อว่าปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการปกป้องสุขภาพให้ห่างไกลจากโรคนี้ก็คือการดูแลร่างกายด้วยการกินอาหารที่มีประโยชน์และการออกกำลังกาย ระดับและการออกกำลังกาย 

และขิงก็เป็นอาหารที่มีองค์ประกอบทั้งหมดที่จำเป็นในการป้องกันและรักษาปัญหาของโรคตับ ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่าการบริโภคขิงเป็นกลยุทธ์การรักษาแบบใหม่สำหรับ NAFLD โดยการปรับปรุงฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของร่างกาย ลดการอักเสบและการดื้อต่ออินซูลิน [35]
 
น้ำขิงดื่มเวลาไหนดี

สาระน่ารู้กับ ฮอทต้า รู้จริงเรื่องขิง
“ดื่มน้ำขิงเวลาไหนดีที่สุด ดื่มแล้วได้สรรพคุณน้ำขิงมากที่สุด” น้ำขิงฮอทต้า อยากให้คอน้ำขิงรู้จริงเรื่องขิงและชงน้ำขิงดื่มในช่วงเวลาที่คุณชื่นชอบ

ดื่มน้ำขิงยามเช้าตรู่ 
หากเราเป็นคนตื่นเช้า ประมาณ ตี 5 - 6 โมงเช้า เป็นช่วงเวลาที่เหมาะแก่การดื่มน้ำขิงอุ่น ๆ จะมีส่วนช่วยให้มีระบบขับถ่ายที่ดีและเพื่อกระตุ้นให้ระบบภายในร่างกายเตรียมความพร้อมในการเผาผลาญพลังงานที่กำลังจะเกิดขึ้นหลังมื้ออาหารเช้า

ดื่มน้ำขิงหลังมื้อเช้าและมื้อเที่ยง 
มีส่วนช่วยในการย่อยอาหาร กระตุ้นการดูดซึมอาหารและเพิ่มพลังการเผาผลาญพลังงานจากอาหาร น้ำขิงเป็นเครื่องดื่มที่ดื่มแล้วทำให้รู้สึกดีหลังมื้ออาหารเช้าและหลังมื้อกลางวันที่เป็นสองมื้อสำคัญของวัน และในบางมื้อที่กระเพาะอาหารต้องทำงานหนักมาก เราต้องรีบชงน้ำขิงดื่มสักแก้ว รวมไปถึงเมื่อเรารู้สึกมีอาการเสียดท้องมากกว่าสองครั้งต่อสัปดาห์ หรือมีอาการแน่น อาหารย่อยยาก เป็นกรดไหลย้อน มีความรู้สึกไม่สบายท้องเมื่อกินอาหาร การดื่มน้ำขิงจึงมีส่วนช่วยบรรเทาอาการเหล่านี้อีกด้วย

ดื่มน้ำขิงเมื่อรู้สึกเหนื่อยล้าจากการทำงาน 
เพราะในน้ำขิงอุดมไปด้วยสารจินเจอร์รอลและสารต้านอนุมูลอิสระที่มีส่วนช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบประสาท และสามารถส่งผลกระทบต่อสารเซโรโทนิน ฮอร์โมนที่มีบทบาทสำคัญในการควบคุมอารมณ์ ทำให้สามารถช่วยลดระดับของความเครียด ความวิตกกังวล และความอ่อนเพลียทางสมอง การดื่มน้ำขิงจึงมีส่วนช่วยให้รู้สึกสดชื่น โล่ง ผ่อนคลาย มีพลังในการดำเนินชีวิตหรือพลังในการทำงานนั่นเอง

ดื่มน้ำขิงระหว่างเดินทาง 
เนื่องจากน้ำขิงจัดเป็นเครื่องดื่มสมุนไพรที่มีส่วนช่วยบรรเทาอาการคลื่นไส้ อาเจียนจึงมีส่วนช่วยบรรเทาอาการเมารถ เมาเรือ ได้ดี

ดื่มน้ำขิงก่อนนอน 
มีช่วยให้ผ่อนคลาย แก้อาการนอนไม่หลับ และทำให้ระบบไหลเวียนโลหิตในร่างกายดีขึ้นด้วย หากมีอาการนอนไม่หลับ ลองจิบน้ำขิงอุ่น ๆ ก่อนนอน จะทำให้นอนหลับได้ง่ายและสบายขึ้น

ดื่มน้ำขิงตลอดฤดูฝนหรือฤดูหนาวและอากาศเปลี่ยนแปลง
ด้วยคุณสมบัติเฉพาะของขิงที่มีความเหมาะสมเป็นพิเศษสำหรับการดื่มเพื่อเสริมภูมิคุ้มกันให้ร่างกายแข็งแรงพร้อมรับทุกฤดูกาลโดยเฉพาะ ฤดูฝน ฤดูหนาวและเมื่ออากาศเปลี่ยนแปลงไปมา ที่มักสร้างปัญหาสุขภาพร่างกายได้เป็นหวัดหรือป่วยบ่อย อีกทั้งมีผลการศึกษาที่พบว่า การดื่มน้ำขิงมีส่วนช่วยป้องกันโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ มีประสิทธิภาพต่อต้านการสะสมของเชื้อไวรัสบริเวณเยื่อบุผิวทางเดินหายใจด้วยการป้องกันการยึดเกาะหรือการแพร่เข้าสู่เซลล์ร่างกายของไวรัสได้ และผู้ที่เป็นหวัดบ่อย ๆ เมื่อได้ดื่มน้ำขิงเป็นประจำก็ได้ห่างเหินไปจากโรคหวัดอีกด้วย

นี่แหละ รวมสรรพคุณดี ๆ ของน้ำขิง ให้คุณได้เช็กชัวร์ 100% ก่อนแชร์บอกต่อข้อมูลดี ๆ เรื่องคุณประโยชน์ขิง ดีจริงจนต้องบอกต่อ
 
              


ที่มา:
[1] https://www.thaiscience.info/journals/Article/KMIT/10970428.pdf วารสารวิจัยและพัฒนา มจธ. ปีที่ 37 ฉบับที่3 กรกฎาคม – กันยายน 2557 หน้าที่ 297 – 312 องค์ประกอบทางเคมีและฤทธิ์การต้านอนุมูลอิสระของน้ำมันหอมระเหยขิง
[2] https://sasuksure.anamai.moph.go.th/site/newsDetail/33a64dd3-45e2-4268-8714-9d43593efce1 คนญี่ปุ่นพิสูจน์ กิน "ขิง" ติดต่อกัน 1 เดือนมีผลดีต่อร่างกายอย่างไร? / สา’สุขชัวร์ / กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข
[3] วารสารเกษตรพระจอมเกล้า 2560 : 35 (2) : 31- 40 ผลของการใช้ขิงเป็นระยะเวลานานต่อการตอบสนองของปริมาณเม็ดเลือดขาว เม็ดเลือดแดง และความต้านทานโรคต่อเชื้อ Streptococcus agalactiae ในปลานิล
[4] Thai Pharmacies Association บทความพิเศษ ถาม – ตอบ ? หน้า 38 วารสารยา สมัยที่ 14 ปีที่ 29 ฉบับที่ 6 พฤศจิกายน – ธันวาคม 2552
[5] https://dmh.go.th/news/view.asp?id=2347 กรมสุขภาพจิต บทความด้านสุขภาพจิต
[6] pharmacy.msu.ac.th/pharmcare/wp-content/uploads/2020/11/ขิง.pdf  ขิง - คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
[7] https://www.doctor.or.th/article/detail/2592 หมอชาวบ้าน / บทความสุขภาพน่ารู้ / ขิง: ยาดีที่โลกรู้จัก
[8] https://he02.tci-thaijo.org/index.php/MJSSBH/article/view/143197 ผลของน้ำขิงกับระยะเวลาการเริ่มไหลของน้ำนมมารดาหลังคลอด
[9] https://www.doctor.or.th/article/detail/5798 หมอชาวบ้าน / บทความสุขภาพน่ารู้ / อาหารและสมุนไพร กระตุ้นน้ำนม

[10] https://www.dtam.moph.go.th/index.php/th/trust-news/7333-trust0157.html   ขิงบรรเทาอาการแพ้ท้อง / กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
[11] https://researchcafe.org/anti-diabetic-by-zingiber-officinale-roscoe/  สารสกัดเหง้าขิงกับการบำบัดเบาหวาน
[12] ขิง สมุนไพรเพื่อการบำบัด / ศักดิ์ บวร / สำนักพิมพ์สมิต / หนังสือชุดอาหารและสุขภาพ / พิมพ์ครั้งแรก สิงหาคม 2542
[13] https://researchcafe.org/anti-diabetic-by-zingiber-officinale-roscoe/ อ้างอิงข้อมูลจาก โครงการวิจัย “ฤทธิ์ต้านเบาหวานและลดความอ้วนของสารสกัดเหง้าขิงและสารประกอบหลัก”
[14] http://www.med.nu.ac.th/pathology/405313/book54/Inflammation.pdf เอกสารประกอบการสอนรายวิชาพยาธิวิทยาทั่วไป (405313) ปีการศึกษา 2554 เรื่อง Acute and Chronic Inflammation อ.นพ. พีรยุทธ สิทธิไชยากุล ภาควิชาพยาธิวิทยาและนิติเวชศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

[15] https://th.wikipedia.org/wiki/การอักเสบ วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี / การอักเสบ
[16] การใช้ขิงรักษาและบำบัดอาการโรคข้อเสื่อม / วารสารสุขภาพกับการจัดการสุขภาพ ปีที่ 3 ฉบับที่ 2 พฤษภาคม – สิงหาคม 2559
[17] บทความวิจัย การศึกษานำร่องผลของยาพอกลมปะกังต่อการลดอาการปวดไมเกรนในผู้ป่วยไมเกรนแบบครั้งคราว Naresuan Phayao Journal สาขาวิชาการแพทย์แผนไทย คณะแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก มหาวิทยาลัยราชภัฎอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี 34000
[18] รายงานการวิจัย ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของน้ำมันขิงต่อกล้ามเนื้อเรียบของหลอดลมที่แยกจากกายของหนูขาว รหัสโครงการ SUT1-104-53-24-10
[19] https://biothai.net/biological-and-genetic-resource/plants-fight-epidemic/1871 งานวิจัย ม.มหิดล เปรียบเทียบประสิทธิผล “ขิง” ยับยั้งโควิด19 / Biothai Team / 16 สิงหาคม 2021
[20] https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/26177393/
[21] https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/31151279/
[22] https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/30545531/
[23] https://www.bumrungrad.com/th/conditions/menstrual-cramps
[24] https://yoppie.com/blog/ginger-benefits-cramps
[25] https://www.prevention.com/food-nutrition/a38604737/tea-for-menstrual-cramps/
[26] https://goodlifeupdate.com/healthy-body/health-education/18671.html แก้ปวดประจำเดือนด้วยชาขิง
[27] https://www.dentistcorpuschristitexas.com/oral-health-benefits-ginger/
[28] https://www.disthai.com/17282696/จินเจอรอล
[29] ประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่องรายชื่อพืชที่ใช้ได้ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร.ลงวันที่7สิงหาคม2560
[30] การศึกษาทางคลินิก ระยะที่2 ของสาร 6-gingerol ในขิงกับการรักษาอาการอาเจียนในผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับเคมีทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน.ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร.คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
[31] Bailey-Shaw,Y.A.,Williams,L.A.D.,Junor,G.O.,Green,C.E.,Hibbert.,S.L.,Salmon,C.N.A.and Smith,A.M.2008.Changes in the contents of oleoresin and pungent bioactive principle of Jamaican ginger (Zingiber officinal Roscoe) during maturation J Agric.Food Chem.56:5564-5571.
[32] http://fic.ifrpd.ku.ac.th/fic/index.php/en/informaton-service-menu-en/food-news-menu-en/food-news-main-menu/589-food1-10-08-2018 น้ำขิง ประโยชน์แจ่มจริง ๆ ดื่มทุกวันยิ่งดีเลย /ศูนย์สารนิเทศทางอาหาร สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร
[33] https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC6721508/
[34] https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC9110206/
[35] https://www.vinmec.com/en/news/health-news/nutrition/is-it-safe-to-eat-ginger-for-the-liver/ 
กลับ
13/09/2565
131,611
บทความอื่น ๆ ที่คุณอาจสนใจ