น้ำขิง ต้านปวดไมเกรน
หน้าแรกประโยชน์ของขิงน้ำขิง ต้านปวดไมเกรน
ขิง เป็นสมุนไพรที่มีประสิทธิภาพในการบำบัดที่สูงเยี่ยมที่สุดชนิดหนึ่ง เปรียบเสมือนยาสารพัดประโยชน์ที่อยู่ใกล้มือในรูปแบบของอาหารและเครื่องดื่มที่นำมาบริโภคได้อย่างสะดวก หาซื้อง่าย ราคาไม่แพง
นอกจากจะเป็นพืชสมุนไพรที่มีสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย อย่างโปรตีน ไขมัน คาร์โบไฮเดรต แคลเซียม วิตามินเอ และอีกมากมายแล้ว ยังมีการศึกษาวิจัยล่าสุดในต่างประเทศ ทำการศึกษาวิจัยในการใช้ขิงรักษาอาการปวดไมเกรนอีกด้วย
ไมเกรน (Migraines) อาการปวดศีรษะรุนแรง เป็นโรคทางประสาทชนิดหนึ่งที่พบบ่อย ไมเกรนจะมีอาการกำเริบเป็นครั้งคราว ส่วนใหญ่ที่เป็นกันจะมีอาการปวดแบบตุบ ๆ เข้ากับจังหวะการเต้นของหัวใจที่บริเวณขมับด้านใดด้านหนึ่ง หรือปวดด้านเดียวก่อน แล้วจึงปวดทั้ง 2 ด้าน ไมเกรนในบางรายอาจมีอาการปวดกระบอกตา คลื่นไส้ หรืออาเจียนร่วมด้วย โดยมีระยะเวลาในการปวดศีรษะนาน 4 - 72 ชั่วโมง และปวดมากขึ้นเมื่อมีการเคลื่อนไหวร่างกาย สัมผัสแสง เสียง หรือกลิ่น ซึ่งกลไกการเกิดโรคไมเกรนยังไม่ทราบแน่ชัด ไมเกรนอาจเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น สิ่งแวดล้อม ฮอร์โมนอารมณ์ร่างกาย การรับประทานอาหาร และการใช้ยา แต่ในปัจจุบันยอมรับแนวคิดตามทฤษฎีเกี่ยวกับเซลล์ประสาท หลอดเลือด และสารสื่อประสาท และเกิดจากสารก่อการอักเสบบางชนิดทำให้เกิดภาวะรับความรู้สึกและความเจ็บปวด
การรักษาไมเกรน แพทย์รักษาโดยการใช้ยาบรรเทาอาการปวด ได้แก่ แอสไพริน (Aspirin) ยาพาราเซตามอล (Paracetamol) หรือยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (Steroid) เช่น ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) โดยหากใช้ยาประเภทนี้บ่อย ๆ และเป็นเวลานาน สามารถทำให้เกิดแผลเปื่อย หรือแผลอักเสบ อาจเกิดเลือดออกในกระเพาะอาหารและลำไส้ และยา Aspirin ยังมีผลต่อการเพิ่มปัจจัยเสี่ยงเกี่ยวกับโรคหัวใจและหลอดเลือด ในรายที่เป็นไมเกรนรุนแรง อาจใช้ยากลุ่มเออร์กอตแอลคาลอยด์ (Ergot alkaloids) ซึ่งมีผลข้างเคียงคือ อาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน ความดันโลหิตสูง ปลายมือปลายเท้าเย็น ใจสั่น เจ็บหน้าอก และหากใช้ติดต่อกันมากจนเกินไปอาจทำให้เป็นโรคปวดศีรษะจากการใช้ยาแก้ปวดติดต่อกันเป็นเวลานาน ยากลุ่มทริปแทน (Triptans) ยาชนิดนี้นิยมใช้ในการบรรเทาอาการปวดไมเกรนได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่มีผลข้างเคียงคือ คลื่นไส้ เวียนศีรษะ ซึ่งไม่แนะนำให้ใช้ยาในคนไข้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมองและโรคหัวใจ จากผลข้างเคียงดังกล่าว แพทย์และผู้ป่วยไมเกรนจึงหันมาให้ความสนใจการแพทย์ทางเลือกในการป้องกันและรักษาโรคไมเกรนโดยไม่ใช้ยามากขึ้น เช่น การฝังเข็ม การนวด การฝึกการทำงานของร่างกาย หรือการรักษาด้วยการพอกยาที่มีบันทึกการใช้ในคัมภีร์การแพทย์แผนไทยเป็นอีกหนึ่งวิธีที่น่าสนใจ เนื่องจากเป็นการใช้ยาภายนอกและสมุนไพรที่เป็นส่วนประกอบของตำรับ สามารถหาได้ง่าย และมีความปลอดภัยสูง เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นพืชอาหาร
จากบทความวิจัย การศึกษานำร่องผลของยาพอกลมปะกังต่อการลดอาการปวดไมเกรนในผู้ป่วยไมเกรนแบบครั้งคราว Naresuan Phayao Journal สาขาวิชาการแพทย์แผนไทย คณะแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก มหาวิทยาลัยราชภัฎอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี พบว่าส่วนประกอบของตำรับยาพอกลมปะกังมีขิงเป็นหนึ่งในส่วนประกอบสำคัญ
การที่ขิงสามารถบรรเทาอาการปวดไมเกรนได้นั้น น่าจะมาจากการที่ขิงมีฤทธิ์ในการลดการอักเสบ ส่งเสริมการไหลเวียนของระบบเลือด และช่วยยับยั้งฮอร์โมนที่เกี่ยวกับการอักเสบ ซึ่งยังมีข้อมูลในการใช้สรรพคุณของขิงในการบรรเทาอาการคลื่นไส้ อาเจียน เวียนหัว ซึ่งอาการดังกล่าวมักพบว่าเป็นอาการนำก่อนที่จะมีอาการปวดไมเกรน จึงถือได้ว่าขิงเป็นสมุนไพรอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ป่วยไมเกรน และหากใครชื่นชอบการดื่มน้ำขิงอยู่แล้ว ก็สามารถจิบน้ำขิงอุ่นๆ เวลาปวดไมเกรนได้เช่นกัน
สรรพคุณของขิงบรรเทาอาการปวดไมเกรน
ขิง ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางเนื่องจากมีประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย และในความเป็นจริง ขิง ยังติดอันดับ 1 ใน 10 ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสมุนไพรที่ขายดีที่สุดในสหรัฐอเมริกาที่รู้จักกันดีที่สุดว่าเป็นยารักษาอาการอาหารไม่ย่อย คลื่นไส้ และปวดท้อง แต่รากขิง หรือแง่งขิง หรือหัวขิง ที่มีกลิ่นหอมและเผ็ดนี้มีส่วนช่วยในการบรรเทาอาการปวดหัวและไมเกรนได้
เพราะในขิงมีน้ำมันธรรมชาติที่เป็นองค์ประกอบหลักของการก่อให้เกิดกลิ่น รสชาติและประโยชน์ต่อสุขภาพ สารประกอบทางเคมีในน้ำมันนี้มีมากมายรวมทั้งจินเจอร์รอลและโชโกล ที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบและบรรเทาอาการปวด และยังมีประสิทธิภาพในการรักษาอาการคลื่นไส้และอาเจียน ซึ่งเป็นอาการสองอย่างที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคไมเกรน และสารสำคัญในขิงยังมีส่วนช่วยเพิ่มเซโรโทนิน ซึ่งเป็นสารเคมีที่เกี่ยวข้องกับลดการอักเสบ บรรเทาความเจ็บปวดจากไมเกรน
มีการศึกษาและงานวิจัยหลายชิ้นได้ทดสอบสรรพคุณของขิงในผู้ที่เป็นไมเกรน อาทิ
- การศึกษาในปี 2014 พบว่าการใช้ขิงผง 250 มก. ช่วยลดอาการไมเกรนได้เช่นเดียวกับยา sumatriptan ที่ต้องสั่งโดยแพทย์
- การศึกษาในปี 2018 พบว่าการใช้สารสกัดจากขิง 400 มก. ร่วมกับคีโตโพรเฟน ซึ่งเป็นยาต้านการอักเสบแบบไม่ใช้สเตียรอยด์ ช่วยลดอาการไมเกรนได้ดีกว่าการรับประทานคีโตโพรเฟนเพียงอย่างเดียว
การดื่มน้ำขิงหรือขิงผงเป็นประจำ อาการปวดไมเกรนจะบรรเทาลง สรรพคุณน้ำขิงสามารถใช้รักษาอาการปวดศีรษะได้ ทั้งชนิดปวดแบบสองข้างและข้างเดียวหรือไมเกรน ผู้ที่มีอาการปวดศีรษะบ่อย ๆ แนะนำให้ดื่มน้ำขิงเข้มข้นเป็นประจำ คุณประโยขน์ที่อยู่ในขิงหรือสรรพคุณน้ำขิงจะสามารถปรับสารไอโคซานอยด์ (Eicosanoid) ทำให้อาการปวดศีรษะบรรเทาลง ซึ่งยังมีข้อมูลในการใช้ขิงเพื่อบรรเทาอาการปวดในร่างกายอีกด้วย
บทความอื่น ๆ ที่คุณอาจสนใจ