ลับสุดยอด 11 อันดับสมุนไพรให้ความหวาน

หน้าแรกเทรนด์ลับสุดยอด 11 อันดับสมุนไพรให้ความหวาน


ปัจจุบันการกินอาหารหรือการดื่มเครื่องดื่มที่มีรสหวานนั้นเป็นที่แพร่หลายอย่างมาก โดยเฉพาะชาไข่มุกที่เป็นเครื่องดื่มโปรดของสาว ๆ หลายคน แต่ในขณะเดียวกัน น้ำตาล ก็เป็นศัตรูตัวร้ายที่คอยทำลายสุขภาพ 

มีข้อมูลทางการแพทย์ยืนยันตรงกัน ว่าการกินน้ำตาลเพียง 1 ช้อนชา มีส่วนทำให้ภูมิตก หรือทำให้ภูมิคุ้มกันร่างกายลดลง 50% ในระยะเวลา 6 ชั่วโมง เนื่องจากความหวานของน้ำตาลเมื่อถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย จะเข้าไปมีส่วนรบกวนหรือกดการทำงานของเซลล์เม็ดเลือดขาว เพราะเม็ดเลือดขาวมีหน้าที่ทำลายเชื้อโรคและปกป้องร่างกายจากสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามาในร่างกาย หรือเรียกง่าย ๆ ว่า น้ำตาลทำให้ภูมิคุ้มกันร่างกายทำงานบกพร่อง ซึ่งถ้าในช่วงเวลา 6 ชั่วโมงมีการรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลเป็นส่วนผสมเข้าไปนั้น และจำเป็นต้องเข้าไปอยู่ในพื้นที่ที่มีการแพร่กระจายของเชื้อโรค คุณอาจมีโอกาสรับเชื้อโรคหรือป่วยได้ง่ายกว่าคนอื่น และที่สำคัญน้ำตาลคืออาหารชั้นดีของเชื้อโรครวมถึงไวรัสและแบคทีเรียต่าง ๆ โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ชอบกินหวานก็เท่ากับเป็นการส่งเสบียงป้อนอาหารให้กับเซลล์มะเร็งโดยตรง ซึ่งเซลล์มะเร็งมีจุดสำหรับดูดซึมน้ำตาลเข้าเซลล์ได้เร็วมากและจำนวนมากกว่าเซลล์ปกติถึง 24 เท่า [1] [4]
 

การบริโภคน้ำตาลในปริมาณมาก ๆ ยังมีส่วนทำให้ร่างกายไม่สามารถเผาผลาญพลังงานหรือนำพลังงานจากน้ำตาลไปใช้ได้หมด และพลังงานส่วนเกินนั้นก็กลายเป็นไขมันส่วนเกินสะสมตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายที่เคลื่อนไหวน้อยและก่อให้เกิดโรคอ้วน รวมไปถึงโรคเบาหวานอีกด้วย เพราะน้ำตาลคือสาเหตุหลักที่มีส่วนทำให้ร่างกายหลั่งสารอินซูลินออกมามากเกินความจำเป็น ซึ่งในระยะยาวจะทำให้ร่างกายผลิตอินซูลินได้น้อยลง หรืออินซูลินที่ผลิตออกมาด้อยประสิทธิภาพทำให้เกิดโรคเบาหวานได้ และในผู้ป่วยเบาหวานที่มีน้ำตาลสะสมสูงจึงมีโอกาสติดเชื้อได้ง่ายกว่าคนทั่วไปและเมื่อติดเชื้อแล้วอาจมีอาการรุนแรงจนถึงขั้นตัดแขน ตัดขา หรือเสียชีวิตได้ รวมไปถึงการมีภาวะน้ำตาลในเลือดสูง น้ำตาลจะกระตุ้นให้เกิดอนุมูลอิสระได้ง่ายขึ้นและมากขึ้นภายในหลอดเลือด และอนุมูลอิสระเหล่านี้ก็จะทำลายผนังหลอดเลือดและทำลายทุกอย่างที่เลือดวิ่งไปถึงทุกเซลล์ของร่างกาย ผู้ที่ชื่นชอบในรสหวานแต่รักสุขภาพจึงหลีกเลี่ยงน้ำตาล แล้วเปลี่ยนมาเลือกใช้สารให้ความหวาน แต่ปลอดภัยกับสุขภาพ เข้ามาทดแทนความหวานของน้ำตาล เพราะการลด ละ เลิกรับประทานน้ำตาลสำหรับบางคนอาจเป็นเรื่องยากมาก แต่อีกหลายคนกลับพบว่าการค่อย ๆ ลดความหวานจะทำให้ลิ้นของเราปรับความชอบหวานลดลงตามลำดับได้เอง ทั้งนี้เราได้จัดแบบลับสุดยอด 11 อันดับสมุนไพรให้ความหวานแต่ปลอดภัยกับสุขภาพ ทั้งชนิดที่ให้ความหวานจากสมุนไพรธรรมชาติ ชนิดสังเคราะห์แบบที่ดีต่อสุขภาพ (แบบแคลอรี่ต่ำและไร้แคล (0% แคลอรี่) และแบบที่คนเป็นเบาหวานรับประทานได้ หรือผู้ที่หลีกเลี่ยงน้ำตาลต้องชื่นชอบมาให้พิจารณาเลือกตามที่เหมาะกับตัวเอง ดังนี้
 

1. หญ้าหวาน (Stevia)
หญ้าหวาน เป็นพืชท้องถิ่นของบราซิลและปารากวัย ซึ่งนิยมนำมาผสมกับเครื่องดื่มชากันมานานแล้ว เพื่อให้มีเครื่องดื่มชามีรสชาติหวาน และที่ประเทศญี่ปุ่นเองก็ชื่นชอบการกินหญ้าหวานกันอย่างแพร่หลาย โดยการนำหญ้าหวานมาใช้หมักกับผักดองหรือใช้เป็นส่วนผสมในการทำเต้าเจี้ยว แต่ในประเทศไทย ช่วงปี พ.ศ.2518 เริ่มมีการนำใบหญ้าหวานมาใช้กัน โดยการนำไปตากแห้งแล้วนำมาชงใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องดื่มนั้น ๆ แทนน้ำตาลทราย เรียกได้ว่า หญ้าหวาน คือพืชสมุนไพรให้ความหวานทางเลือกใหม่สำหรับใช้เป็นสารให้ความหวานแทนน้ำตาล และกำลังเป็นที่นิยมในหมู่คนรักสุขภาพ เพราะเชื่อว่ารับประทานแล้วไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อร่างกาย ทั้งยังให้รสชาติหวานเหมือนน้ำตาล และทุกวันนี้มีการเลือกบริโภคหญ้าหวานมากขึ้น ในรูปแบบใบหญ้าหวานสกัดชนิดผง สำหรับตักผสมลงในเครื่องดื่ม หรือใช้ปรุงอาหารแทนน้ำตาลนั่นเอง และกำลังเป็นที่นิยมอย่างมากในกลุ่มผลิตภัณฑ์สารให้ความหวานแทนน้ำตาล ที่เรียกว่า ใบหญ้าหวานสกัด (สตีเวีย) เพราะใบหญ้าหวานสกัด (สตีเวีย) ให้ความหวานมากกว่าน้ำตาล 150 – 300 เท่า แต่ไม่ให้โทษและไม่มีแคลลอรี่ (0% Kcal) [2] [3]

และความพิเศษของใบหญ้าหวานสกัดที่โดดเด่นมาก ๆ ก็คือ การให้รสชาติความหวานถูกปากแต่ปราศจากพลังงาน เรียกได้ว่าใบหญ้าหวานสกัดมีแคลอรี่ต่อหน่วยบริโภคที่ต่ำมากหรืออาจนับได้ว่าเป็น 0 แคลอรี่ (0%) ทำให้ใบหญ้าหวานสกัดมีส่วนช่วยลดน้ำหนักได้เมื่อใช้ใบหญ้าหวานสกัดเข้ามาแทนน้ำตาลทรายที่ให้พลังงานประมาณ 45 แคลอรี่/ช้อนโต๊ะ (12 กรัม) ดังนั้นการใช้ใบหญ้าหวานสกัดทดแทนน้ำตาลมีส่วนช่วยให้คุณไม่ขาดความหวานแต่ได้รับแคลอรี่น้อยลงนั่นเอง
 

2. ซูคราโลส (Sucralose)
ซูคราโลส เป็นสารให้ความหวานแทนน้ำตาล ซึ่งมีความหวานสูงเป็น 600 เท่าของน้ำตาลทราย ได้รับอนุญาตจากองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (FDA) ให้ใช้เป็นสารแทนความหวานทั่วไปได้ (general-purpose sweetener) ซูคราโลสมีข้อดีคือ รสชาติดี คล้ายน้ำตาล ไม่มีรสขม ใช้ได้หลากหลาย ทนความร้อนในการหุงต้มและอบ มักได้รับความนิยมในการนำไปใช้ในการทำเบเกอรี่

ซูคราโลส เป็นสารแทนความหวานที่ไม่มีพลังงาน แถมยังไม่มีผลต่อระดับของอินซูลินอีกด้วย เป็นสารให้ความหวานแทนน้ำตาลที่ค่อนข้างใหม่เมื่อเทียบกับสารให้ความหวานชนิดอื่น

มีผลการศึกษางานข้อมูลวิจัยที่สรุปได้ว่าการรับประทานสารให้ความหวานซูคราโลสนั้นยังไม่พบผลข้างเคียงใด ๆ เช่น ไม่ก่อให้เกิดพิษแบบสะสม ไม่ทำให้เกิดผลกระทบต่อส่วนของยีน ไม่ได้เป็นสารก่อมะเร็ง ไม่มีผลต่อระดับของอินซูลินในร่างกาย และที่สำคัญ ยังไม่มีผลต่อตัวทารกหากคุณแม่จะรับประทานเข้าไป เพราะสารให้ความหวานซูคราโลสนี้ไม่สามารถผ่านเข้าไปในน้ำนมได้
 

3. แอสปาร์เทม (Aspartame)
เป็นสารให้ความหวานแทนน้ำตาลที่ให้ความหวานประมาณ 160-220 เท่าของน้ำตาลทราย ได้รับอนุญาตจากองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา(FDA) ให้ใช้เป็นสารให้ความหวานทั่วไปได้ (general-purpose sweetener) แม้ว่าแอสปาร์เทมจะให้พลังงานเท่ากับน้ำตาลทราย คือ 4 กิโลแคลอรี่ต่อกรัม แต่เนื่องจากแอสปาร์เทมมีความหวานมาก จึงใช้ในปริมาณเพียงเล็กน้อย ก็สามารถให้ความหวานเทียบกับน้ำตาลทรายได้ ดังนั้นจึงสามารถให้ความหวานที่เท่ากับน้ำตาลทราย แต่ให้แคลอรี่ที่น้อยกว่ามาก

แต่ข้อเสียของแอสปาร์เทมนั้นจะมีรสขมเฝื่อนเมื่อใช้ในปริมาณมาก ไม่ทนความร้อน ดังนั้นจึงไม่สามารถนำไปใช้ในเครื่องดื่มหรืออาหารที่ต้องมีการหุงต้มนึ่งหรือผัดแกงทอด นอกจากนี้จะไม่ค่อยคงตัวเมื่ออยู่ในของเหลว เช่น เครื่องดื่ม เป็นระยะเวลานาน

อีกทั้งแอสปาร์เทมยังเป็นสารให้ความหวานที่มักมีผู้คนตั้งข้อกังขาอยู่เป็นระยะ เนื่องจากมีรายงานว่าเป็นสารก่อมะเร็ง นอกจากนี้ก็มีการเชื่อมโยงกับความผิดปกติทางจิตประสาทต่าง ๆ เช่น อาการตื่นตระหนก อารมณ์แปรปรวน ภาพหลอน อาการตื่นตกใจ มึนงง และอาการปวดศีรษะในบางคน แต่ก็มีรายงานเกี่ยวกับความปลอดภัยของแอสปาร์เทมที่โต้แย้งว่า ขนาดที่ใช้ในคนในปัจจุบันยังมีความปลอดภัยอยู่ และด้วยข้อกังขาข้างต้นเหล่านี้เอง ทำให้คู่แข่งที่มีผลิตภัณฑ์สารให้ความหวานอื่น ๆ โฆษณาว่าผลิตภัณฑ์เหล่านั้น “ปราศจากแอสปาร์เทม”
 

4. ไซลิทอล (Xylitol) 
ไซลิทอล คือ แอลกอฮอล์ของน้ำตาล (Sugar alcohol) เป็นสารให้ความหวานอีกชนิดหนึ่งที่มีความหวานคล้ายน้ำตาล โดยให้พลังงานที่ 2.4 แคลอรี่ต่อกรัมหรือ 2 ใน 3 ของน้ำตาลธรรมดา สารให้ความหวานไซลิทอลเป็นชื่อยอดฮิตที่ใช้ในผลิตภัณฑ์ในช่องปาก เพราะมีคุณสมบัติช่วยลดฟันผุ และกระดูกพรุนได้นั่นเอง ไซลิทอลไม่มีผลต่อระดับน้ำตาลในเลือดและระดับอิซูลิน แต่แอลกอฮอล์ของน้ำตาลเหล่านี้หากรับประทานมากไป อาจมีผลข้างเคียงต่อระบบย่อยอาหารได้ นอกจากนี้ยังควรระวังไม่ให้สุนัขรับประทาน เพราะเป็นอันตรายต่อสุนัข
 

5. อิริทริทอล (Erythritol)
น้ำตาลอิริทริทอล คือสารให้ความหวานแทนน้ำตาลที่แคลอรี่ต่ำและจัดว่าปลอดภัย โดยปกติอิริทริทอลคือแอลกอฮอล์ของน้ำตาล (Sugar alcohol) ซึ่งพบได้ในผลไม้บางชนิด ผลิตโดยการหมักน้ำตาลกลูโคสด้วยยีสต์ อิริทริทอล (Erythritol) มีความหวานเท่ากับ 70% ของน้ำตาลทรายและให้พลังงานเท่ากับ 0.24 กิโลแคลอรี่ต่อกรัม หรือให้พลังงานเพียงแค่ 6% ของน้ำตาลปกติ สารให้ความหวานในกลุ่มแอลกอฮอล์ของน้ำตาลนี้มีข้อดีตรงที่ดูดซึมช้าและไม่สมบูรณ์ จึงไม่ทำให้มีการหลั่งอินซูลินรวดเร็วเหมือนน้ำตาลกลูโคสหรือน้ำตาลทราย จึงใช้ในผู้ป่วยเบาหวานได้ดี นอกจากนี้ยังไม่มีผลเพิ่มไขมันในเลือดเช่น โคเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์

อิริทริทอล มีรสหวานคล้ายน้ำตาลมาก สัมผัสแรกที่ชิมจะให้ความรู้สึกเย็น และมีเนื้อสัมผัสเหมือนน้ำตาลปกติ อีกทั้งมีความปลอดภัยสูงและมีค่าดัชนีน้ำตาล (glycemic index) ที่ต่ำมากแค่ 1 จาก 100 ซึ่งเป็นระดับของน้ำตาลกลูโคส อิริทริทอล มีลักษณะพิเศษคือจะไม่ถูกดูดซึมเข้าร่างกายในกระเพาะอาหารแต่จะถูกส่งต่อไปยังลำไส้เล็ก ซึ่งจะถูกดูดซึมได้แค่บางส่วน และส่งต่อไปยังลำไส้ใหญ่ มีแบคทีเรียคอยทำหน้าที่แปรสภาพอยู่ ดังนั้นไม่ควรรับประทานในปริมาณมากเกินไป เพราะอาจมีผลทำให้เกิดแก๊สในระบบย่อยอาหารได้
 

6. หล่อฮังก้วย (Monk Fruit)
หล่อฮังก้วย อีกหนึ่งทางเลือกของการบริโภคสารให้ความหวาน เพราะแต่เดิมนั้น หล่อฮังก้วย เป็นสมุนไพรจีนที่มีรสหวาน นิยมนำผลหล่อฮังก้วยมาตากแห้งแล้วนำไปต้มเป็นเครื่องดื่ม โดยมีความเชื่อว่าสมุนไพรชนิดนี้อาจมีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ ต้านเชื้อแบคทีเรีย ต้านการอักเสบ ส่งผลดีต่อผู้ป่วยโรคเบาหวาน และเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับผู้ที่ต้องการจำกัดปริมาณการบริโภคน้ำตาล

หล่อฮังก้วยมีความหวานมากกว่าน้ำตาลประมาณ 150-250 เท่า ถือได้ว่าเป็นพืชจีนโบราณที่มีสรรพคุณทางยา เป็นสมุนไพรที่มีฤทธิ์เย็นและใช้กันอย่างแพร่หลายทางการแพทย์ในประเทศจีน อีกทั้งหล่อฮังก้วยยังผ่านรับรองจาก (FDA) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สหรัฐอเมริกา เมื่อช่วงปี พ.ศ. 2553 ว่าสามารถนำมาใช้เป็นสารให้ความหวานได้และปลอดภัย เนื่องจากยังไม่มีผลการศึกษาที่กล่าวถึงผลข้างเคียงจากการใช้ในเด็ก สตรีมีครรภ์ หรือในผู้หญิงให้นมบุตร 

รู้ไหมว่า! ในผลหล่อฮังก้วยมีสารสำคัญที่ชื่อว่าโมโกรไซด์ (Mogroside) ซึ่งเป็นสารที่อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น ไกลโคไซด์, ซาโปนิน, มีสารต้านการอักเสบที่มีกระบวนการในการยับยั้งโมเลกุลที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย

หล่อฮังก้วยให้รสชาติความหวานแบบไม่ต้องกังวลเรื่องแคลอรี่ เพราะหล่อฮังก้วยไม่มีแคลอรี่ ไม่มีคาร์บ ไม่มีโซเดียม ไม่มีไขมัน และได้รับความนิยมในการนำหล่อฮั้งก้วยมาใช้เป็นสารให้ความหวานแทนน้ำตาลอย่างสูงมากเช่นเดียวกับหญ้าหวาน [5]
 

7. น้ำผึ้ง (Honey)
ศาสตร์ทางการแพทย์ของหลายประเทศใช้น้ำผึ้งในการรักษาอาการป่วย มีพรีไบโอติกส์และสารต้านอนุมูลอิสระ ที่มีส่วนช่วยลดอาการอักเสบของโรคผิวหนังต่าง ๆ มีคุณค่าในด้านการดูแลความสวยความงาม ช่วยเพิ่มความสดชื่นให้แก่ร่างกาย ช่วยบำรุงสมอง และในทางเคมีนั้น น้ำผึ้งมีสารประกอบหลัก ๆ ที่เหมือนกันกับน้ำตาลทราย คือ “กลูโคส” และ “ฟรุกโตส” มากถึง 70% รวมถึงมีซูโครสอยู่ 10% ด้วย และแม้ว่าน้ำผึ้งจะมีแร่ธาตุที่มีประโยชน์ต่อร่างกายอยู่บ้าง แต่ด้วยความที่น้ำผึ้งเป็นน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว ร่างกายจึงสามารถดูดซึมไปใช้ได้เร็ว นอกจากนี้น้ำผึ้งยังมีวิตามิน แร่ธาตุ และสารต้านอนุมูลอิสระด้วย น้ำผึ้งจึงถือว่าเป็นสารให้ความหวานจากธรรมชาติที่ดีชนิดหนึ่ง แต่ด้วยแคลอรี่ที่สูงกว่าน้ำตาลทรายแต่ค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ จึงควรระวัง ปริมาณ ในการรับประทานเป็นพิเศษเช่นกัน และตอนนี้ในตลาดผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพบ้านเรา กำลังเริ่มนิยมน้ำผึ้งมานูก้า หรือ Manuka Honey ซึ่งเป็นน้ำผึ้งที่ได้จากผึ้งที่ผสมเกสรกับต้นมานูก้า ที่มีแหล่งกำเนิดและเติบโตตามธรรมชาติในประเทศออสเตรเลียและประเทศนิวซีแลนด์ โดยขึ้นชื่อว่าเป็นน้ำผึ้งที่มีประโยชน์ที่สุดในโลกและได้รับการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ว่าเป็นน้ำผึ้งที่มีคุณค่าและสารอาหารที่มีอยู่สูงกว่าน้ำผึ้งทั่วไป เช่น กรดอะมิโน วิตามินบีรวม และแร่ธาตุต่าง ๆ อย่างเช่น แคลเซียมและแมกนีเซียม เป็นต้น ที่มีสูงกว่าถึง 4 เท่า และมีคุณสมบัติเป็นยาที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพทั้งภายในและภายนอก ทำให้น้ำผึ้ง Manuka กลายเป็นไอเท็มที่สาวกบิวตี้เฮลตี้ต่างนิยมในการนำมาบริโภคนั่นเอง
 

8. น้ำตาลมะพร้าวหรือน้ำตาลโตนด (Coconut sugar)
น้ำตาลมะพร้าว/น้ำตาลโตนด นอกจากจะมีกลิ่นและรสชาติที่หอมหวาน ถือเป็นอาหารกลุ่มที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำคือ 35 จึงทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดไม่สูงขึ้นเร็วจนเกินไป ดังนั้นจะทำให้อินซูลินเพิ่มระดับอย่างช้า ๆ ทำให้รู้สึกอิ่มนาน เป็นแหล่งความหวานที่ให้แคลอรี่ต่ำกว่าน้ำตาลทั่วไป และมีโพแทสเซียมช่วยควบคุมความดันและน้ำตาลในเลือดด้วย ยิ่งไปกว่านั้นน้ำตาลมะพร้าวยังมีแร่ธาตุอื่น ๆ รวมทั้งวิตามินบางชนิดที่น้ำตาลทรายแดงไม่มี ความหวานจากน้ำตาลมะพร้าวเป็นความหวานแบบสดชื่นที่ช่วยลดอาการอ่อนเพลียให้ร่างกายได้อีกด้วย 

ทั้งน้ำผึ้งและน้ำตาลมะพร้าวล้วนมีฟรุกโทสอยู่ในปริมาณมาก ฟรุกโทสเป็นน้ำตาลชนิดหนึ่งที่ได้จากธรรมชาติ ซึ่งส่วนใหญ่จะได้จากผักผลไม้ น้ำผึ้งและกากน้ำตาล รวมถึงน้ำตาลที่อยู่ในรูปของน้ำตาลปี๊บและน้ำตาลปาล์มด้วย ส่วนในทางการค้านั้น ส่วนใหญ่จะผลิตน้ำตาลจากข้าวโพดมากที่สุด ซึ่งก็จะใช้เป็นสารให้ความหวานในเครื่องดื่มต่าง ๆ แทนน้ำตาลทราย นั่นก็เพราะว่าน้ำตาลชนิดนี้มีความหวานมากกว่าน้ำตาลทรายถึง 1.2 เท่านั้นเอง อย่างไรก็ตาม น้ำตาลชนิดนี้ก็อาจเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือดได้เหมือนกัน เพียงแต่จะน้อยกว่าน้ำตาลซูโครส อีกทั้ง ฟรุกโทส ยังมีดัชนีน้ำตาลที่ต่ำแค่ประมาณ 20 จึงนิยมนำมาใช้เป็นสารเพิ่มความหวานในอาหารของผู้ป่วยโรคเบาหวานนั่นเอง แม้ว่าฟรุกโทสจะสามารถใช้ในผู้ป่วยเบาหวานได้ ก็ต้องระมัดระวังในปริมาณที่รับประทานด้วย ซึ่งแม้ว่าจะไม่ได้ส่งผลต่อการเพิ่มระดับน้ำตาล แต่ก็เป็นการเพิ่มความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจได้เช่นกัน ดังนั้นจึงสรุปได้ว่าผู้ที่เป็นเบาหวานสามารถรับประทานน้ำตาลฟรุกโทสได้แต่ต้องรับประทานในปริมาณที่พอเหมาะ ส่วนผู้ที่มีค่าไขมันผิดปกติก็ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานฟรุกโทสในปริมาณมากอย่างเด็ดขาด เพราะหากได้รับมากเกินไปก็จะส่งผลให้ระดับโคเลสเตอรอล ไตรกลีเซอไรด์ และแอลดีแอลโคเลสเตอรอล (ไขมันไม่ดี) เพิ่มสูงขึ้นได้เช่นกัน รวมไปถึงภาวะต่อต้านอินซูลิน เบาหวานประเภท 2 โรคอ้วน ไขมันพอกตับและโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบเผาผลาญ
 

9. น้ำเชื่อมเมเปิ้ล (Maple syrup)
เป็นสารให้ความหวานจากธรรมชาติ 100% ที่มีความหวานมากกว่าน้ำตาลจากอ้อยถึง 3 เท่า แต่มีแคลอรี่น้อยกว่า และไม่ผ่านกระบวนการทางเคมีเลย ทำให้เมเปิ้ลไซรัปค่อนข้างปลอดภัยกว่าน้ำตาลทั่วไป และยังมี Zinc ที่ช่วยบำรุงเลือดและการทำงานของหัวใจอีกด้วย
 

10. น้ำหวานจากเกสรดอกไม้ (Agave nectar)
น้ำหวานจากเกสรดอกไม้เป็นหนึ่งในสารให้ความหวานจากธรรมชาติที่เรียกอีกชื่อว่าไซรัปจากเกสรดอกไม้ (Agave Syrup) ผลิตมากจาก Agave (อากาเว่) ที่พบในเม็กซิโก น้ำหวานจากเกสรดอกไม้นี้มีรสชาติเหมือนน้ำผึ้ง ที่มีข้อดีคือเป็นสารให้ความหวานที่มีองค์ประกอบของ วิตามิน เกลือแร่ และสารอาหารที่จำเป็นทางโภชนาการ เป็นสารให้ความหวานแทนน้ำตาลที่มีคุณสมบัติของความหนืดน้อยกว่าผึ้ง จึงสามารถละลายในอาหารและเครื่องดื่มได้ดี มีความเหมาะสมสำหรับการนำไปปรุงในอาหารมังสวิรัติ แต่มีข้อด้อยในเรื่องของปริมาณแคลอรี่ที่เท่ากับน้ำผึ้งและไม่แตกต่างจากน้ำตาล อีกทั้งยังมีปริมาณฟรุกโตสสูง ซึ่งการบริโภคฟรุกโตสสูงเกินไปนั้นส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาว เช่น มีผลต่อระดับไขมันในเลือด อาจนำไปสู่ภาวะไขมันพอกตับ ยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคอ้วนลงพุงและโรคเบาหวานอีกด้วย
 

11. อินทผาลัม (Dates)
อินทผาลัม ใช้แทนน้ำตาลในการทำขนมเพื่อสุขภาพหลายอย่าง ถือเป็นผลไม้ที่ให้ความหวานสูงมากตามธรรมชาติ และมาพร้อมสารอาหารที่ดีต่อร่างกายมากมาย เช่น มีไฟเบอร์สูง (1 ผลมีไฟเบอร์ถึง 2 กรัม) อินทผาลัม ยังประกอบไปด้วยน้ำตาลฟรุคโตสซึ่งไม่เหมาะเท่าไหร่นักสำหรับผู้ที่เป็นเบาหวานแม้ว่าจะมีค่าดัชนีน้ำตาลที่ต่ำ หมายความว่า ไม่ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดผันผวนรวดเร็วแต่ผู้ที่เป็นเบาหวานไม่ควรรับประทานเกินครั้งละ 1-2 ผลเท่านั้น


คำเตือน: แหล่งความหวานจากธรรมชาติ อย่างเช่น น้ำผึ้ง น้ำตาลมะพร้าว น้ำเชื่อมเมเปิ้ล น้ำเชื่อมจากเกสรดอกไม้ และอินทผาลัม จะถูกใช้เป็นทางเลือกในการเพิ่มความหวานแทนน้ำตาลทราย เพราะมีสารอาหารอื่น ๆ ที่ดีต่อสุขภาพ แต่ทั้ง 5 ชนิดนี้ก็ยังให้พลังงาน (มีแคลอรี่) สูงกว่าน้ำตาลปกติเสียอีก ถึงแม้จะมีค่าดัชนีน้ำตาลที่ต่ำ คือเมื่อรับประทานเข้าไปแล้วไม่ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดพุ่งสูง แต่ผู้ที่เป็นเบาหวานก็ควรต้องระวังอย่างมากหรือควรหลีกเลี่ยง เพราะน้ำตาลที่ได้จากแหล่งความหวานเหล่านี้ไม่แตกต่างเท่าไหร่นักจากน้ำตาลทราย และตับของเราก็แยกความแตกต่างเหล่านี้จากน้ำตาลไม่ออก ผู้ที่ต้องการตัดขาดจากน้ำตาล (รวมทั้งผู้ที่รับประทานคีโต) จึงควรงดอาหารกลุ่มนี้ไปด้วย


ที่มา:
[1] น้ำตาล กับ โรคมะเร็ง
[2] ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องวัตถุเจือปนอาหาร (ฉบับที่4) สตีวิออลไกลโคไซด์ วันที่ 17 สิงหาคม 2555
[3] หญ้าหวาน (Stevia) หญ้าหวานคืออะไร ไขข้อข้องใจเกี่ยวกับประโยชน์และอันตราย
[4]  น้ำตาล ภัยร้ายที่มาพร้อมความหวาน
[5] หล่อฮังก๊วย (Monk friut)
กลับ
24/07/2566
10,517
บทความอื่น ๆ ที่คุณอาจสนใจ