10 สมุนไพรแก้ไอ หาได้ง่าย

หน้าแรกเทรนด์10 สมุนไพรแก้ไอ หาได้ง่าย
สมุนไพร แก้ไอ

อาการไอ เกิดจากการตอบสนองของร่างกายเมื่อพบสิ่งผิดปกติในระบบทางเดินหายใจ และทำให้กลไกมหัศจรรย์ของร่างกายทำการขจัดสิ่งแปลกปลอมนั้น ๆ เช่น เชื้อโรค เสมหะ เศษอาหาร ให้ออกมา ซึ่งอาการไอยังมีส่วนในการแพร่กระจายของการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจอีกด้วย [1]

ลักษณะของการไอแบ่งตามระยะเวลาของอาการไอได้ 2 ชนิดใหญ่ ๆ คือ
  1. ไอฉับพลัน มีระยะเวลาของการไอ น้อยกว่า 3 สัปดาห์ ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบน เช่น โรคหวัด, โพรงไซนัสอักเสบฉับพลัน, หลอดลมอักเสบ, คอหรือกล่องเสียงอักเสบ, อาการกำเริบของโรคถุงลมโป่งพอง, ปอดอักเสบ, การที่มีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในหลอดลม หรือสัมผัสกับสารระคายเคืองในสิ่งแวดล้อม เช่น ฝุ่น ควัน ควันบุหรี่ กลิ่นสเปรย์ ควันไฟ แก๊ส มลพิษทางอากาศ ฯลฯ
  2. ไอเรื้อรัง มีระยะเวลาของการไอ มากกว่า 3 สัปดาห์ ถึง 8 สัปดาห์ ส่วนใหญ่เกิดจากสาเหตุของโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง, โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ หรือโรคไซนัสอักเสบเรื้อรังแล้วมีน้ำมูกไหลลงคอ, กินยารักษาความดันโลหิตสูงชนิด angiotensin-converting enzyme inhibitor (ACE-I) เป็นระยะเวลานาน, โรคหืด, โรคกรดไหลย้อน [gastroesophageal reflux (GERD)], การใช้เสียงมาก ทำให้เกิดสายเสียงอักเสบเรื้อรัง, เนื้องอกบริเวณคอ กล่องเสียงหรือหลอดลม, โรคของสมองส่วนที่ควบคุมการไอ, โรควัณโรคปอด ซึ่งผู้ป่วยที่มีอาการไอเรื้อรังบางรายอาจมีสาเหตุมากกว่าหนึ่งชนิด จึงควรได้รับการตรวจหาสาเหตุให้แน่ชัด [2]
การรักษาอาการไอ
การรักษาอาการไอที่ดีที่สุดคือการหาสาเหตุของอาการไอและรักษาตามสาเหตุโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ แต่ในบางกรณี อาการไออาจเป็นสัญญาณเตือนของกลไกทางร่างกาย ว่ามีความผิดปกติอยู่หรือเปล่า หากมีอาการไอเล็กน้อยแล้วไม่มียาแก้ไอหรือในผู้ที่ไม่ชอบกินยาแก้ไอ ลองเดินเข้าไปดูในครัวว่ามี 10 สมุนไพร แก้ไอ หาได้ง่าย ที่มีส่วนช่วยแก้ไอ แก้เจ็บคอ หรือแก้ไอ ขับเสมหะ และมีสรรพคุณหรือคุณประโยชน์เฉพาะตัวมากมาย ดังนี้
 
ขิง

1. ขิง
ขิง หนึ่งใน 10 สมุนไพรแก้ไอ หาได้ง่าย ถือเป็นสมุนไพรไทยที่อยู่คู่ครัวไทยมานาน เป็นสมุนไพรยอดนิยมสำหรับนำมาใช้เป็นวัตถุดิบประกอบอาหาร นำมาชงเป็นเครื่องดื่มน้ำขิง และขิงยังเป็นสมุนไพรที่มีสรรพคุณหลากหลายและถูกจัดอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติในกลุ่มยาขับลม บรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ นอกจากนี้ขิงยังเป็นสมุนไพรที่มีส่วนช่วยบรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียนและขิงยังบรรเทาอาการไอได้อีกด้วย

เพราะขิงแก่สดจะมีปริมาณสารสำคัญจำพวก โอลีโอเรซิน (oleoresin) สูง ซึ่งเป็นสารที่ทำให้ขิงมีรสชาติเผ็ดร้อนและมีกลิ่นหอมจากน้ำมันหอมระเหยที่มีสารสำคัญหลายชนิด เช่น จินเจอร์รอล Gingerol, sesquitrepene, bisabolene, Zingiberene, Zingerol, Shogaol ที่ทำให้ขิงมีคุณสมบัติมากมายในการเป็นสมุนไพรแก้ไอขับเสมหะ ช่วยขับลม ช่วยย่อยอาหาร แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ คลื่นไส้ เมารถ เมาเรือ แก้อาเจียน แก้ไข้ ฯลฯ

การดื่มน้ำขิงร้อน ๆ มีส่วนช่วยป้องกันโรคไข้หวัด ช่วยบรรเทาอาการหนาว บรรเทาอาการไอ ไข้ต่ำ ไม่ค่อยมีเหงื่อ ดื่มน้ำขิงมีส่วนช่วยให้จมูกโล่งดี อาการไม่สบายจะลดลง เนื่องจากขิงเป็นสมุนไพรหลักที่กระทรวงสาธารณสุข ประกาศอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2552 ว่าสามารถป้องกัน “โรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ชนิดเอ (H1N1) ได้ และมีผลการศึกษาโดย รองศาสตราจารย์สมศักดิ์ นวลแก้ว คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม [3] ศึกษาขิงและพบว่าขิงมีฤทธิ์แก้ไอ ซึ่งในตำรับยาที่มีขิงเป็นส่วนประกอบ มีฤทธิ์แก้ไอได้ โดยเฉพาะขิงในรูปแบบของเครื่องดื่มร้อน จะมีฤทธิ์แก้ไอขับเสมหะได้ดี ในบทความพิเศษเรื่องสมุนไพรแก้ไอ ของวารสารยา ฉบับที่ 242 หน้า 66-67 ให้ความรู้เรื่องขิงสามารถช่วยลดการหดตัวของกล้ามเนื้อบริเวณหลอดลมได้ โดนยำขิงสดขูด 2 ช้อนชา ใส่ลงในน้ำอุ่น สามารถเติมมะนาวและน้ำผึ้งเล็กน้อยได้ เพื่อเพิ่มรสชาติแล้วดื่ม [6
 
สมอไทย

2. สมอไทย
สมอไทยจัดอยู่ในมหาพิกัดตรีผลาในตำรายาไทยคือผลไม้ 3 ชนิด (ตรี แปลว่า สาม, ผลา แปลว่า ผลไม้, ตรีผลา แปลว่า ผลไม้สามอย่าง) ที่มีสมอไทย, มะขามป้อม, สมอพิเภก ที่แพทย์แผนไทยใช้เป็นสมุนไพรในการปรับสมดุลธาตุ ดูแลสุขภาพที่มีการเปลี่ยนแปลงตามฤดูกาล ซึ่งตำรับตรีผลาเป็นตำรับยาที่ช่วยดูแลสุขภาพในช่วงฤดูร้อน แต่ถ้าจะมุ่งเน้นแก้โรคทางเสมหะ เช่น แก้โรคหวัด แก้ไอ ขับเสมหะ จะต้องใช้เป็นตำรับมหาพิกัดตรีผลา คือ ลูกสมอไทย 4 ส่วน (ประมาณ 15 กรัม), มะขามป้อม 12 ส่วน (ประมาณ 45 กรัม), ลูกสมอพิเภก 8 ส่วน (ประมาณ 30 กรัม) น้ำหนักสมุนไพรสามารถได้ตามสัดส่วนและใช้ได้ทั้งสมุนไพรสดและสมุนไพรแห้ง แต่ควรใช้เป็นประเภทเดียวกัน [11]

โดยสมอไทย ประกอบด้วยสารสำคัญในกลุ่มโพลีฟีนอล ได้แก่ gallic acid, chebulic acid, chebulinic acid, chebulagic acid, corilagin, terchebin, glucogallin, ellagic acid, sennoside A, chebulin, catechol, tannic acid และ B-sitosterol เป็นสมุนไพรไทยที่มีรสชาติเกือบครบทุกรสที่ไม่ว่าจะเป็น รสเปรี้ยว รสฝาด ซึ่งตามตำรายาไทยกล่าวไว้ว่า “รสชาติของยาบอกถึงสรรพคุณของยา” ทำให้สมอไทยเป็นสมุนไพรแก้ไอขับเสมหะ เป็นสมุนไพรแก้เจ็บคอ เพราะเป็นสมุนไพรไทยที่มีรสเปรี้ยวอมฝาด เวลากินจะรู้สึกหวานอยู่ในปาก ทำให้รู้สึกชุ่มคอ ละลายขับเสมหะ แก้ไอ แก้เจ็บคอ รสฝาดของสมอไทยยังมีส่วนช่วยสมานแผลในปาก ไปจนถึงแผลในกระเพาะอาหารอีกด้วย [4] [5]
 
มะขามป้อม

3. มะขามป้อม
มะขามป้อม หนึ่งใน 10 สมุนไพรแก้ไอ หาได้ง่าย ถือเป็นผลไม้เพื่อสุขภาพที่มีสารสำคัญในกลุ่มโพลีฟีนอลและวิตามิน ได้แก่ Vitamin A, Vitamin C, Vitamin B3, rutin, mucic acid, gallic acid, phyllemblic acid, tannins terpene flavonoids และยังมีวิตามิน แร่ธาตุต่าง ๆ มากมาย เช่น แคลเซียม ฟอสฟอรัส ฯลฯ

นอกจากนี้ มะขามป้อมยังเป็นสมุนไพรไทยที่มีสรรพคุณทางยาในการมีส่วนช่วยแก้หวัด แก้ไอ ขับเสมหะ ช่วยทำให้ชุ่มคอ แก้กระหาย, รักษาและป้องกันการเกิดโรคเลือดออกตามไรฟัน แก้อาการปวดฟัน ป้องกันการเกิดโรคเบาหวาน บำรุงปอด หลอดลม หัวใจ กระเพาะอาหาร และยับยั้งความเป็นพิษของตับและไต เป็นต้น โดยเฉพาะในบทความพิเศษเรื่องสมุนไพรแก้ไอ ของวารสารยา ฉบับที่ 242 หน้า 66-67 ให้ความรู้เรื่องมะขามป้อม เป็นสมุนไพรแก้เจ็บคอที่ช่วยให้ชุ่มคอ แก้ไอขับเสมหะได้ดี กินผลสดหรือนำมาคั้นน้ำดื่ม แต่ควรเลือกลูกที่แก่ออกเหลือง หรือใครไม่สะดวกทำเอง ปัจจุบันนี้ก็มีผลิตภัณฑ์สมุนไพรมะขามป้อมวางจำหน่ายหรือหาซื้อได้ง่ายตามร้านค้า ร้านขายยา และร้านสะดวกซื้อทั่วไป [6] [7] [8] [9] [10] [11]
 
สมอพิเภก

4. สมอพิเภก
สมอพิเภก มีสารสำคัญที่อยู่ในกลุ่มโพลีฟีนอล ได้แก่ chebulagic acid, ellagic acid, gallic acid, chebulagic acid และ B-sitosterol โดยสมอพิเภกเป็นหนึ่งในผลไม้สมุนไพร 3 อย่างของ “ตำรับตรีผลา” ตามตำรายาไทยที่มี ลูกสมอพิเภก ลูกสมอไทย ลูกมะขามป้อม ที่แพทย์แผนไทยใช้เป็นสมุนไพรไทยในการปรับสมดุลธาตุ ดูแลสุขภาพที่มีการเปลี่ยนแปลงตามฤดูกาล แต่ถ้าจะมุ่งเน้นแก้โรคทางเสมหะ เช่น แก้โรคหวัด แก้ไอ ขับเสมหะ จะต้องใช้เป็นตำรับมหาพิกัดตรีผลา คือ 
  • ลูกสมอไทย 4 ส่วน (ประมาณ 15 กรัม)
  • มะขามป้อม 12 ส่วน (ประมาณ 45 กรัม)
  • ลูกสมอพิเภก 8 ส่วน (ประมาณ 30 กรัม)
น้ำหนักสมุนไพรสามารถได้ตามสัดส่วนและใช้ได้ทั้งสมุนไพรสดและสมุนไพรแห้ง แต่ควรใช้เป็นประเภทสมุนไพรเดียวกัน และมีวิธีทำที่สามารถทำเองแสนง่าย คือ
  1. นำสมุนไพรสดทั้งสามชนิดล้างน้ำให้สะอาด
  2. ใส่น้ำ 3 ลิตร ยกขึ้นตั้งไฟจนน้ำเดือด (ต้ม 30 นาที) (หากเป็นสมุนไพรแห้งให้แช่ในน้ำเปล่า 3 ลิตร ประมาณ 3 ชั่วโมง ก่อนต้ม)
  3. แล้วนำมากรองเอาแต่น้ำ และเพิ่มรสชาติด้วยเกลือ หรือ หญ้าหวาน หรือ น้ำผึ้ง เพียงเล็กน้อยเท่านั้น
ใช้ดื่มอุ่น ๆ เช้า และ เย็น ครั้งละ 100 มิลลิลิตร สุดยอดสมุนไพรแก้ไอ ขับเสมหะ สมุนไพรแก้เจ็บคอ [11]
 
ฟ้าทะลายโจร

5. ฟ้าทะลายโจร
ฟ้าทะลายโจรหนึ่งในสมุนไพรแก้ไอที่ในระบบการแพทย์อายุรเวทแบบดั้งเดิมของประเทศอินเดียใช้ใบและยอดแห้งของสมุนไพรฟ้าทะลายโจรรักษาอาการไอ (แก้ไอ) รักษาโรคหลอดลมอักเสบและเป็นไข้ ในการแพทย์แผนจีนใช้สมุนไพรฟ้าทะลายโจรในการรักษาและบรรเทาอาการไอ (แก้ไอ) เป็นไข้ ไข้หวัดใหญ่ เจ็บคอ และสมุนไพรฟ้าทะลายโจรยังมีส่วนช่วยรักษาอาการไอเฉียบพลันหรือเรื้อรัง อีกทั้งยังมีผลการศึกษาที่มุ่งเน้นไปที่ประโยชน์ที่เป็นไปได้ของยาแคปซูลสมุนไพรฟ้าทะลายโจรสำหรับสภาวะทางเดินหายใจและการย่อยอาหาร [12]

และจากการส่งเสริมพัฒนาสมุนไพรไทยอย่างเป็นระบบแบบแผน ส่งผลให้ไทยเราสามารถสร้างความมั่นใจในประสิทธิภาพและคุณภาพของยาสมุนไพร ฟ้าทะลายโจร โดยมีรายการยาที่ใช้ในการป้องกันและรักษาบรรเทาที่มีหลักฐานสนับสนุนการใช้ตามสรรพคุณ (Health Benefits) หรือบ่งใช้ (Clinical Indication) และประสบการณ์การใช้ยาสมุนไพร ฟ้าทะลายโจรในประเทศไทยอย่างเพียงพอ รวมไปถึงการบอกต่อ แบบปากต่อปาก อีกทั้งในบัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร พ.ศ. 2564 ยาสารสกัดฟ้าทะลายโจร และยาผงฟ้าทะลายโจร ที่มีสารแอนโดรกราโฟไลด์ (Andrographolide) ถูกเพิ่มในบัญชียาหลักแห่งชาติ สำหรับใช้รักษาผู้ป่วยโควิดที่มีอาการน้อยได้ [13] [14] [15] โดยมีผลการศึกษาที่พบว่า สารแอนโดรกราโฟไลด์นั้น ยังมีสารประกอบ Lactone 4 ชนิด ที่มีฤทธิ์เย็นหนืดไปช่วยจับโปรตีนของไวรัสให้อยู่กับที่ ทำให้ฤทธิ์ของสมุนไพร ฟ้าทะลายโจร มีส่วนช่วยต้านไวรัสได้ดียิ่งขึ้น และมีส่วนช่วยป้องกันผลข้างเคียงจากยาปฏิชีวนะได้ และช่วยป้องกันรักษาโรคหวัด เป็นสมุนไพรแก้เจ็บคอ และเป็นสมุนไพรแก้ไอขับเสมหะที่ดีชนิดหนึ่ง [13]

ซึ่งก่อนที่สมุนไพรแก้ไอ ฟ้าทะลายโจรถูกเพิ่มลงในบัญชียาหลักแห่งชาติสำหรับใช้ในการรักษาบรรเทาอาการของผู้ป่วยโควิดที่ยังไม่มีอาการรุนแรงนั้น เมื่อช่วงปลายเดือน ธ.ค. 2563 คณะรัฐบาลไทยได้อนุมัติให้มีการศึกษานำร่องในการใช้สมุนไพรแก้ไอ ฟ้าทะลายโจร เพื่อรักษาและบรรเทาอาการของผู้ป่วยโควิด-19 ในระยะแรก และลดความรุนแรงของโรคโควิด-19 โดยช่วงก่อนหน้านี้ ในช่วงปลายเดือน มิ.ย. 2563 เดอะ เนชั่น ประเทศไทย รายงานว่าโครงการวิจัยของประเทศไทยเกี่ยวกับสมุนไพรแก้ไอฟ้าทะลายโจรในผู้ป่วยโควิด-19 ระยะที่ 1 ได้เริ่มขึ้นที่โรงพยาบาล 2 แห่งของไทย ที่เบื้องต้นนี้ ผู้ป่วยโควิดจะได้รับยาแคปซูลสมุนไพรฟ้าทะลายโจรทันทีที่ได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อโควิด ที่ส่วนใหญ่จะมีอาการไอและมีไข้เล็กน้อยถึงปานกลาง และกินเวลาไม่เกิน 72 ชั่วโมง [12] และช่วงปลายเดือน ส.ค. 2563 เดอะ เนชั่น ประเทศไทย ยังได้รายงานอีกว่า การให้ยาสมุนไพรฟ้าทะลายโจรในปริมาณที่ต่ำกว่า มีประโยชน์ในการทดลองเบื้องต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมุนไพรไทยฟ้าทะลายโจรนั้น เป็นสมุนไพรแก้ไอขับเสมหะอย่างได้ผล ซึ่งภายใน 3 วัน อาการไอ ความถี่ในการไอ และความรุนแรงของอาการโดยรวมลดลงอย่างเห็นได้ชัด จากนั้นอีก 5 วัน ภาพรวมของอาการอื่น ๆ ก็ดีขึ้น
 
พริกไทยดำ

6. พริกไทยดำ
พริกไทยดำ สมุนไพรแก้ไอขับเสมหะที่ถือเป็นสมุนไพรทางเลือกที่ทั่วโลกกำลังให้ความนิยมจนได้รับการขนานนามว่าเป็นราชาแห่งเครื่องเทศ เพราะพริกไทยเป็นสมุนไพรไทยที่เป็นได้ทั้งเครื่องเทศและสมุนไพรที่มีสรรพคุณทางยามากมาย

พริกไทยดำ ก็คือผลของต้นพริกไทย ที่ออกผลเป็นพวงอ่อนสีเขียว มีรสชาติเผ็ดร้อน นิยมนำไปปรุงอาหาร หรือเป็นหนึ่งในเครื่องเทศยอดนิยม พริกไทยเมื่อผลเริ่มแก่ จะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองและสีแดงเมื่อสุกจัด เมล็ดตากแห้งจะเป็นสีดำ หากนำเปลือกออกจะมีสีขาวเรียกว่า พริกไทยขาวหรือพริกไทยล่อน แต่ถ้าทำแห้งทั้งเปลือกจะได้พริกไทยดำ เนื่องจากเปลือกเมื่อทำให้แห้งจะมีสีดำ

พริกไทยดำ จัดเป็นสมุนไพรไทย สมุนไพรแก้ไอ สมุนไพรแก้เจ็บคอ สมุนไพรแก้ไอขับเสมหะ ที่มีน้ำมันหอมระเหยอยู่ร้อยละ 2-4 มีอัลคาลอยด์หลักคือ Piperidne, Piperettine และอัลคาลอยด์ที่พบในปริมาณน้อยอีก 3-4 ชนิด ได้แก่ Piperyline, Piperolein A, Piperolein B และ Piperanine, Piperine และ Piperanine เป็นอัลคาลอยด์ที่ทำให้เกิดกลิ่นฉุนและรสเผ็ด โดยน้ำมันหอมระเหยก็ได้จากพริกไทยดำที่นำมากลั่นด้วยไอน้ำ จะได้น้ำมันหอมระเหยจากพริกไทยดำร้อยละ 2 ถึง 4 และมีชันน้ำมัน (Oleoresin) ที่ได้จากการสกัดพริกไทยดำด้วยตัวทำลายที่ระเหยได้ แล้วนำสิ่งสกัดนั้นมาระเหยตัวทำลายออกให้หมด ส่วนที่เหลือคือชันน้ำมัน เป็นสารที่ทำให้พริกไทยมีรสเผ็ด

กองโภชนาการ กรมอนามัย วิเคราะห์คุณค่าสารอาหารในพริกไทย 100 กรัม ให้พลังงาน 94 กิโลแคลอรี โปรตีน 4.4 กรัม คาร์โบไฮเดรต 13.2 กรัม แคลเซียมสูงถึง 1,543 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 23 มิลลิกรัม เบต้า-แคโรทีน 28.82 ไมโครกรัม เทียบหน่วยเรตินัล [16]

สรรพคุณทางยาของสมุนไพรไทย พริกไทยดำ
มักนิยมใช้พริกไทยดำมากกว่าพริกไทยขาวหรือพริกไทยล่อน โดยความเผ็ดร้อนของพริกไทยดำมีส่วนช่วยขับเหงื่อ ขับลม ขับปัสสาวะ กระตุ้นปุ่มรับรสที่ลิ้น ส่งผลให้กระเพาะอาหารหลั่งน้ำย่อยเพิ่ม มีส่วนช่วยย่อยสลายไขมัน มีส่วนช่วยย่อยอาหาร ขับลมในลำไส้ บำรุงธาตุ แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ แก้ปวดท้อง ขับเสมหะ เพิ่มการไหลเวียนของโลหิต มีส่วนช่วยในการต่อต้านอนุมูลอิสระ ช่วยเพิ่มความอบอุ่นให้กับร่างกายและเสริมสร้างภูมิคุ้มกันไปด้วยในตัว [17] ที่สำคัญ พริกไทยดำยังเป็นหนึ่งในส่วนผสมของสมุนไพรแก้ไอด้วยธรรมชาติบำบัดแบบไม่ต้องพึ่งยา เนื่องจากฤทธิ์ของพริกไทยดำนั้นยังมีส่วนช่วยในการขับลม ช่วยเปิดคอให้โล่งขึ้น ขจัดสิ่งขัดขวางทางเดินหายใจได้ดี จมูกโล่งขึ้น หายใจได้คล่องขึ้น เนื่องจากอาการไอนั้นเป็นกลไกหนึ่งของร่างกายในการกำจัดสิ่งระคายเคือง สารคัดหลั่ง หรือจุลชีพออกจากระบบทางเดินหายใจนั่นเอง [18]
 
มะนาว

7. มะนาว
กินน้ำมะนาวแก้ไอ ถือเป็นหนึ่งในภูมิปัญญาชาวบ้านที่มีมานาน ที่ไม่ว่าบ้านไหนเวลามีคนในครอบครัว ไอ เจ็บคอ มีเสมหะ ก็จะแนะนำให้ดื่มน้ำมะนาวอุ่น ๆ หรือ น้ำมะนาวผสมน้ำผึ้ง เพราะน้ำอุ่นและน้ำมะนาวจะช่วยละลายเสมหะ ส่วนน้ำผึ้งก็มีส่วนช่วยแก้ไอ ทำให้ชุ่มคอ และน้ำผึ้งมีส่วนทำให้เป็นการดื่มเพื่อแก้ไอได้ง่ายขึ้นในผู้ที่ไม่ชอบรสชาติเปรี้ยว หรือใช้ผลมะนาวสดคั้นเอาแต่น้ำมะนาว เพื่อให้ได้น้ำมะนาวเข้มข้นแล้วนำมาใส่เกลือเล็กน้อย ก่อนนำมาจิบบ่อย ๆ หรือจะทำเป็นน้ำมะนาวใส่เกลือผสมน้ำตาลเล็กน้อย จิบบ่อย ๆ จิบตลอดวัน หรือหั่นมะนาวขนาดเท่าปลายนิ้วก้อยจิ้มเกลือนิดหน่อย ใช้อมบ้างเคี้ยวบ้าง [19] หรือใช้วิธีฝานมะนาวออกครึ่งลูก แกะเมล็ดออกให้เกลี้ยง โรยเกลือลงบนเนื้อมะนาวเล็กน้อยหรือตามชอบแล้วบีบมะนาวเข้าปากไปเลย สามารถบรรเทาอาการเจ็บคอและแก้ไอได้ผลจริง ๆ 

เพราะในน้ำมะนาวมีกรดซิตริก (citric acid) ที่มีส่วนช่วยลดการอักเสบ ช่วยกำจัดเชื้อโรคที่ทำให้เจ็บคอ [20] [21] และมีผลการศึกษาที่นำมะนาวเทศ (เป็นมะนาวที่อยู่ในตระกูลเดียวกันกับมะนาวที่เห็นอยู่ในเมืองไทย แต่คนละพันธุ์) พบว่าน้ำมะนาวเทศ สามารถฆ่าเชื้อโรค (เชื้อสแท็ฟออเรียส) ที่ทำให้เจ็บคอได้ถึง 90-99 เปอร์เซ็นต์ ภายใน 20-30 นาที [22]
 
น้ำผึ้ง

8. น้ำผึ้ง
การใช้น้ำผึ้งปรุงเป็นเครื่องดื่มแก้ไอ เป็นอีกหนึ่งวิธียอดฮิตที่มีส่วนช่วยแก้ไอขับเสมหะ โดยเฉพาะการนำน้ำผึ้งมาผสมกับน้ำมะนาว เพราะน้ำผึ้งผสมน้ำมะนาวจะมีฤทธิ์ละลายเสมหะ ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโรค แบคทีเรีย ไวรัส ต้านการอักเสบ ต่อต้านอนุมูลอิสระ เพียงใช้น้ำผึ้ง 2-3 ช้อน ผสมกับน้ำมะนาวครึ่งลูก และผสมกับน้ำอุ่นเล็กน้อย ใช้ดื่มหรือจิบทั้งวัน จะช่วยแก้ไอละลายเสมหะได้ดีทีเดียว 

ทุกวันนี้ มีการศึกษาวิจัยน้ำผึ้งออกมาอยู่เรื่อย ๆ เช่น มีการศึกษาวิจัยน้ำผึ้งแท้สามารถแก้ไอในผู้ป่วยโรคหวัดได้ดีกว่าการกินยาแก้ไอที่มีจำหน่ายตามท้องตลาดทั่วไป (ที่ต้องระบุว่าน้ำผึ้งแท้ เพราะตามท้องตลาดมักพบแต่น้ำผึ้งผสมน้ำตาลและน้ำผึ้งไม่แท้ เพราะน้ำผึ้งปลอมใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ไม่ได้) อีกทั้งน้ำผึ้งแท้ยังมีส่วนช่วยให้นอนหลับง่ายในเด็กที่ป่วยเป็นหลอดลมส่วนบนติดเชื้อ ซึ่งเป็นงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย สเตท (The Pennsylvania State University) ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งในงานวิจัยชิ้นนี้ ยังเป็นการศึกษาเปรียบเทียบระหว่างประสิทธิภาพในการแก้ไอของน้ำผึ้งแท้ กับยาแก้ไอ dextromethorphan (เดกซ์โทรเมทอร์แฟน) ที่เป็นยาสามัญประจำบ้านและอนุญาตให้จำหน่ายตามร้านขายยาและใช้กันมากที่สุด

การใช้น้ำผึ้งช่วยแก้ไอนั้นมีมานานแล้ว แต่การที่มีงานวิจัยเกี่ยวกับน้ำผึ้งออกมาเรื่อย ๆ ย่อมเป็นการตอกย้ำให้เห็นชัดเจนเป็นรูปธรรมว่า น้ำผึ้งมีส่วนช่วยแก้ไอได้จริง

นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ ได้ให้ความรู้ไว้ใน www.doctor.or.th สำหรับผู้ถามปัญหาสุขภาพว่า ให้ผสมน้ำผึ้ง 3-4 ส่วน กับ น้ำมะนาว 1 ส่วน และควรเคี่ยวน้ำผึ้งบนเตาไฟให้เดือดก่อน แล้วปล่อยให้เย็นลง จึงค่อย ๆ เติมน้ำมะนาวลงไป และสามารถเก็บใส่ขวดแบ่งจิบได้บ่อย ๆ นอกจากช่วยแก้ไอแล้ว ยังให้พลังงานแก่ร่างกายแทนข้าวได้อีกด้วย [24]
 
มะขาม

9. มะขาม
มะขามเป็นผลไม้รสเปรี้ยวที่อุดมไปด้วยกรดอินทรีย์อย่าง ซิตริค มาลิค ทาร์ริค วิตามินเอ และมีวิตามินซีสูงโดยเฉพาะสารสำคัญอย่างกรดทาร์ทาริก (tartaric acid) ที่มีส่วนช่วยแก้ไอ ละลายเสมหะ และยังช่วยทำให้ชุ่มคอ ชื่นใจอีกด้วย โดยสามารถใช้เนื้อมะขามจากฝักแก่ จิ้มเกลือรับประทาน หรือคั้นน้ำผสมเกลือจิบเบา ๆ บรรเทาอาการได้ดี [18] [25]
 
กระเทียม

10. กระเทียม
กระเทียม เป็นสมุนไพรไทยที่อยู่ในครัวคนไทยมานาน หลายคนคงนึกภาพได้ถึงสมุนไพรคู่ครัวที่แขวนตามเสาตามมุมในครัว สำหรับพร้อมหยิบใช้เป็นวัตถุดิบในการประกอบอาหาร ใช้เป็นส่วนผสมหลักในการดับกลิ่นคาวของเนื้อสัตว์ แต่งกลิ่น และเพิ่มรสชาติให้กับอาหารประเภทผัดได้อย่างดี ใบและหัวกระเทียมสดยังสามารถกินเป็นผักเคียงได้ แต่สารสำคัญในกระเทียมนั้นมีส่วนช่วยบรรเทาอาการไข้หวัด ช่วยบรรเทาอาการโรคไอกรน ในทางแพทย์แผนไทยนำกระเทียมไปเป็นส่วนผสมในตำรับยาสมุนไพรสำหรับช่วยในการขับเสมหะ [25] [26] [27]

กระเทียมมีสารสำคัญที่เป็นสารออกฤทธิ์ จัดอยู่ในกลุ่มสารประกอบกำมะถัน (Organosulfur) เช่น อัลลิซาติน (Allisatin), อะโจอีน (Ajoene), ไดแอลลิล ซัลไฟด์ (Diallyl Sulfide), อัลเคนีล ไตรซัลไฟด์ (Alkenyl trisulfide), สารกลุ่มฟลาวานอยด์ เช่น เควอซิทิน (Quercetin), ไอโซเควอซิทิน (Isoquercitrin), เรย์นูทริน (Reynoutrin), แอสตรากาลิน (Astragalin), อีกทั้งในกระเทียมดิบปริมาณ 100 กรัม มีคุณค่าทางโภชนาการ ดังนี้ คาร์โบไฮเดรต 33.06 กรัม, เส้นใยอาหาร 2.1 กรัม, แคลเซียม 181 มิลลิกรัม, ฟอสฟอรัส 153 มิลลิกรัม, แมกนีเซียม 25 มิลลิกรัม, โพแทสเซียม 401 มิลลิกรัม, ซิลีเนียม 14.2 ไมโครกรัม, วิตามินบี5 0.596 มิลลิกรัม, วิตามินบี6 1.235มิลลิกรัม, วิตามินบี9 3ไมโครกรัม, และวิตามินซี 31.2 มิลลิกรัม

10 สมุนไพรไทยธรรมชาติ พิชิตอาการไอนั้น สามารถบรรเทาอาการไอได้ แต่ไม่สามารถรักษาสาเหตุหรือโรคที่ทำให้เกิดอาการไอได้ การรักษาที่ต้นเหตุของการไอ น่าจะเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะทำให้อาการไอหายไปได้ และหากไอเป็นระยะเวลานาน มีอาการไอที่รุนแรงขึ้น หรือมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วยเมื่อมีอาการไอ ควรรีบไปปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาที่ถูกโรค และในสมุนไพรแก้ไอที่มีรสเปรี้ยวจัด อาจทำให้เกิดอาการท้องเสียในบางคนได้อีกด้วย


ที่มา
[1] อาการไอ / คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
[2] หน้า 74  กลุ่มที่ 5 ยารักษากลุ่มอาการของระบบทางเดินหายใจ 5.1 กลุ่มยาบรรเทาอาการไอ/เสมหะ - บัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร พ.ศ. 2566
[3] ขิง โดย รองศาสตราจารย์สมศักดิ์ นวลแก้ว คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
[4] รู้หรือไม่ ?? ในสมัยพุทธกาลพระสงฆ์อาพาธมักฉัน “สมอไทย” เป็นยาหลัก / ฟาร์มแคร์ เราแคร์คุณ โดยคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
[5] สมอไทย / ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
[6] บทความพิเศษ สมุนไพรแก้ไอ / วารสารยา ฉบับที่ 242 หน้า 66-67
[7] สมุนไพรมะขามป้อม / คณะเทคโนโลยีการเกษตรและอาหาร มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม http://lms.psru.ac.th/newweb/index1.php  
[8] เมดไทย. (2563) มะขามป้อม. สืบค้น 30 มีนาคม 2565
[9] มะขามป้อม / ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
[10] ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
[11] กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เผยตำรับยา “มหาพิกัดตรีผลา” มีสรรพคุณเสริมภูมิคุ้มกัน ปรับธาตุเหมาะกับช่วงฤดูร้อน  / สถาบันการแพทย์แผนไทย
[12] ไทยอนุมัติสมุนไพรไทยฟ้าทะลายโจรรักษาโควิด-19
[13] แนวทางการใช้ยาฟ้าทะลายโจร / กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์
[14] กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก / ประเด็นคำถามการใช้ยาฟ้าทะลายโจรในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19
[15] ราชกิจจานุเบกษา ประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ เรื่อง บัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร เพิ่มฟ้าทะลายโจรใช้กับผู้ป่วยโรคโควิด 19
[16] สมุนไพร ผักพื้นบ้าน เพื่อชีวิต & สุขภาพ โดย มนตรี แสนสุข สำนักพิมพ์อนิเมทกรุ๊ป Animate Print And Design Co.,Ltd.
[17] 4 ตัวช่วยเสริมสร้าง ‘ภูมิคุ้มกัน’ ร่างกาย ในอาหารที่ต้องกินอยู่ทุกวัน / กรุงเทพธุริกิจ
[18] บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
[19] บรรเทา ‘อาการไอ’ ด้วย7สมุนไพร 
[20] รักษาอาการไอแบบไม่พึ่งยา ด้วยธรรมชาติบำบัด
[21] 6 สมุนไพรแก้ไอขับเสมหะ จากในครัว
[22] มะนาว แก้ไอ เจ็บคอ เสียงแหบแห้ง / บทความสุขภาพน่ารู้ / หมอชาวบ้าน
[23] ประโยชน์ของมะนาวต่อการรักษาโรค ได้ผลชัวร์หรือไม่?
[24] 'น้ำผึ้ง' บรรเทาอาการไอและช่วยให้หลับง่าย / ศูนย์นวัตกรรมเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว
[25] รวมสมุนไพรแก้ไอ ขับเสมหะ บรรเทาอาการเจ็บคอ 
[25] ชัวร์ก่อนแชร์: หอมแดงทุบสามารถนำมาใช้ป้องกันและรักษาโควิด 19 ได้ จริงหรือ?
[26] หอมใหญ่ หอมแดง กระเทียม กับเมนูเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ต้านโควิด-19
[27] กระเทียม สารอาหาร สรรพคุณ ประโยชน์ และวิธีใช้เพื่อสุขภาพ
กลับ
24/01/2567
8,557
บทความอื่น ๆ ที่คุณอาจสนใจ