10 เมนูเครื่องดื่มสมุนไพรเพื่อสุขภาพ สายเฮลตี้ห้ามพลาด

หน้าแรกเทรนด์10 เมนูเครื่องดื่มสมุนไพรเพื่อสุขภาพ สายเฮลตี้ห้ามพลาด
เครื่องดื่ม สมุนไพร

ประเทศไทย เป็นประเทศที่ถือว่าเป็นเมืองร้อน อันดับต้น ๆ ของโลก ถึงจะมี 3 ฤดู แต่หลาย ๆ ท่าน ก็น่าจะทราบดีว่า ทุกฤดูจะสัมผัสได้ถึงอากาศที่ร้อนอบอ้าวมาก ๆ อยู่ตลอด และเพราะอากาศที่ร้อนมาก ๆ นี้ ส่งผลให้ ร่างกายเกิดการขาดน้ำ มีอาการอ่อนเพลีย ปวดศีรษะ และเกิดอารมณ์หงุดหงิดได้ง่าย ในสภาวะเช่นนี้จะต้อง ดูแลสุขภาพร่างกายเพื่อเตรียมรับมือกับความร้อน และแสงแดดที่รุนแรง  คนไทยจึงชอบดื่มน้ำเย็นๆ ยิ่งน้ำหวาน ๆ เย็น ๆ ยิ่งชอบ เพราะช่วยดับกระหายคลายร้อน ดื่มแล้วรู้สึกสดชื่น ชื่นอกชื่นใจ แต่น้ำหวานต่อให้อร่อย สดชื่น คลายร้อน แต่ก็มีผลเสียเยอะมากเช่นกัน เพราะล้วนแล้วแต่ มีส่วนผสมของน้ำตาลทั้งสิ้น  

โดยหลายท่านอาจจะลืมไปว่าประเทศไทย โด่งดังเรื่องสมุนไพร เป็นอันดับต้น ๆ ของโลกเลยทีเดียว และสมุนไพรไทย ก็มีให้เลือกหลากหลาย สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้มากมาย และเป็นหนึ่งในวิธีการดับร้อนอย่างง่าย ๆ ด้วยภูมิปัญญาไทย คือการใช้สมุนไพรที่มีฤทธิ์เย็น การบริโภคสมุนไพรกลุ่มนี้จะช่วยรักษาสมดุลของอุณหภูมิ ร่างกายให้คงที่ แก้ร้อนใน และกระหายน้ำ ก่อนอื่นเราไปทำความรู้จักกับ ฤทธิ์ร้อน ฤทธิ์เย็น ของร่างกาย และ ฤทธิ์ร้อน ฤทธิ์เย็น ของสมุนไพรกันก่อน จะได้เลือกดื่มสมุนไพร ได้อย่างถูกต้องและเหมาะสมกับร่างกาย

ฤทธิ์ร้อน และ ฤทธิ์เย็น ของร่างกาย คืออะไร ? [1]
ถ้าจะเปรียบให้เข้าใจง่าย ๆ ฤทธิ์ร้อน และ ฤทธิ์เย็น ของร่างกาย ก็เหมือน หยิน และ หยาง ของตำราจีน นั่นเอง โดยทั้งสองฤทธิ์ จะต้องมีอย่างสมดุลกัน ในร่างกายของเรา หากมีฤทธิ์ร้อน และ ฤทธิ์เย็น ไม่สมดุลกัน ก็จะก่อให้เกิดโรคภัย ไข้เจ็บในร่างกายได้ และผลที่ร่างกายมี ฤทธิ์ร้อน หรือ ฤทธิ์เย็น มากเกินไปนั้น จะมีอาการยังไงบ้าง ลองสังเกตุดูว่า ตอนนี้ร่างกายของคุณมีสภาวะไหน

ร่างกายที่มีสภาวะร้อนเกิน เมื่อสภาวะไม่สมดุลร้อนเกิน ร่างกายจะระบายความร้อนไปตามจุดต่าง ๆ เพื่อเฉลี่ยความร้อน และระบายออกจากร่างกายตามเส้นทางต่าง ๆ จุดใดที่อ่อนแอ หรือทนพิษร้อนได้น้อยก็จะแสดงอาการออกมา ซึ่งแต่ละคนอาจจะมีอาการเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือมีอาการหลายอย่างร่วมกันก็ได้ เช่น ร่างกายจะเตือนด้วยอาการ หิวน้ำ สะอึก อ่อนเพลีย มือเท้าร้อน รู้สึกร้อนแต่ไม่มีเหงื่อออก เป็นสิวฝ้า หรือ ผมร่วง ผมหงอกก่อนไว เป็นต้น และหากร่างกายมีสภาวะร้อนเกิน เป็นเวลานาน อาจเกิดโรคที่ร้ายแรงขึ้นได้ เช่น โรคหัวใจ โรคเกาต์ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง กระเพาะอาหารอักเสบ ตับอักเสบ ฯลฯ ซึ่งสภาวะร้อนเกินไปนี้ ก็มีสาเหตุส่วนหนึ่ง มาจากการที่เราบริโภคอาหารที่มีฤทธิ์ร้อน ในปริมานมากจนเกินไป เช่น เนื้อสัตว์ นม ไข่ ที่มีไขมันสูง อาหารที่ปรุงรสจัด อาหารที่ใส่ผงชูรส ของพวกนี้ถือเป็นอาหารที่มีความร้อนสูง ซึ่งคนที่ร่างกายมีสภาวะร้อนเกิน หากทานอาหารฤทธิ์เย็นเข้าไป ก็จะบรรเทาความร้อนได้ 

ร่างกายที่มีสภาวะเย็นเกิน  ร่างกายของเราก็สามารถมีสภาวะเย็นเกินได้ เช่นกัน หากเราบริโภคอาหารที่มีฤทธิ์เย็นเกินพอดี โดยร่างกายของเราจะมีอาการเตือน เช่น น้ำมูกไหล หนาวสั่น มือเท้าเย็น หน้าซีด นิ้วล็อค ตะคริว ถึงขนาดเริ่มมีอาการเจ็บหน้าอกด้านขวา สัญญาณเหล่านี้เป็นการเตือนจากร่างกายของเราว่า ข้างในเริ่มเย็นเกินแล้วนะ ก็ต้องทานฤทธิ์ร้อนเข้าไปปรับสมดุล เพื่อเจือจางความเย็นในร่างกาย ให้ลดลง

สภาวะร้อนเกิน และ สภาวะเย็นเกิน เกิดขึ้นพร้อมกัน จะแสดงอาการยังไง 
  • มีไข้สูงแต่หนาวสั่น หรือ เย็นมือเย็นเท้า
  • ปวดหัว ตัวร้อน ร่วมกับท้องอืด
  • ปวด/บวม/แดง/ร้อน ร่วมกับ มึนชา ตามแขน ขา  เนื้อตัว

หากไม่แน่ใจว่าร่างกายของเราไม่สมดุลแบบไหน มีสภาวะร่างกายร้อนเกิน เย็นเกิน หรือ เกิดขึ้นพร้อมกันทั้งสองสภาวะ ให้แก้สภาวะร้อนเกินไว้ก่อน เพราะคนส่วนใหญ่ ในปัจจุบัน ร้อยละ 80% จะป่วยด้วยโรคสภาวะร้อนเกิน และผู้ที่มีสภาวะร้อนเกินและเย็นเกินเกิดพร้อมกัน จะมีประมาณร้อยละ 15% สำหรับผู้ที่มีสภาวะเย็นเกิน มีประมาณ ร้อยละ 5% เท่านั้น ปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดร่างกายไม่สมดุลสภาวะร้อน เย็น หลัก ๆ คือ อาหาร เราจึงต้องเรียนรู้ว่าอาหาร พืช ผัก สมุนไพร ชนิดไหน มีฤทธิ์ร้อน หรือฤทธิ์เย็น เพื่อจะได้ปรับการกินให้สมดุลกับร่างกายของเรามากที่สุด
 

ทั้งนี้ ไม่ใช่แค่ร่างกายเรา ที่มีสภาวะร้อน เย็น สมุนไพรเองก็มีฤทธิ์ร้อน หรือ ฤทธิ์เย็น เหมือนกัน และไม่ใช่ว่าสมุนไพรทุกชนิด จะเหมาะกับทุกสภาวะร่างกายด้วย เพราะฉะนั้นนอกจากสรรพคุณที่ดีแล้ว เราก็ควรเลือกฤทธิ์ของสมุนไพรให้ถูกต้อง เพราะสมุนไพรแต่ละชนิดก็มี ฤทธิ์ร้อน ฤทธิ์เย็น แตกต่างกันไป ก่อนจะตัดสินใจ เลือกสมุนไพร มารับประทาน มาทำความรู้จักกันก่อนว่า สมุนไพรไหนมีฤทธิ์ร้อน หรือ ฤทธิ์เย็นบ้าง ช่วงเวลานี้ ร่างกายของเราอยู่สภาวะไหน และควรเลือกกินสมุนไพรชนิดใด เพื่อรักษาสมดุลของร่างกาย

สรรพคุณ สมุนไพรฤทธิ์ร้อน [2]
ช่วยไล่ลม เพิ่มความอบอุ่นให้กับร่างกาย กระตุ้นการเผาผลาญส่งผลให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น ตัวอย่างสมุนไพรฤทธิ์ร้อน ได้แก่ ขิง ข่า ตะไคร้ ขมิ้นชัน พริกทุกชนิด เครื่องเทศ กระชาย กระเทียม ใบกะเพรา ต้นหอม หอมแดง โป๊ยกั๊ก ตังกุย กานพลู ดอกคำฝอย จันทน์เทศ ฯลฯ

สรรพคุณ สมุนไพรฤทธิ์เย็น [2]
ช่วยละลายของเสีย ขับของเสียได้ดี ช่วยให้เลือดสะอาด เป็นตัวช่วยที่ดีในการดับพิษร้อน และ ลดการสะสมของความร้อนภายในร่างกาย ต้านโรคที่มาจากพิษร้อน อย่างเช่น ใบบัวบก ใบเตย ใบรางจืด ว่านหางจรเข้ มะรุม ใบย่านาง โสมไทย เก๋ากี้ ชะเอมเทศ หล่อฮังก้วย ฯลฯ
 
     

อย่างที่ทราบกันข้างต้นแล้วว่า สรรพคุณ และ ประโยชน์ของสมุนไพร ที่ทุกคนกินเป็นอาหารในชีวิตประจำวัน เป็นแหล่งโปรตีน วิตามิน และแร่ธาตุ รวมทั้งสารอื่น ๆ อีกมากมายนั้น ล้วนแต่มีความจำเป็นต่อร่างกายที่จะนำไปสู่สุขภาพที่ดี 

ปัจจุบันนี้เครื่องดื่มประเภทน้ำสมุนไพร ก็ได้เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น สมุนไพรเหล่านี้ได้จากการนำส่วนประกอบต่าง ๆ ของพืช นำมาแปรรูปให้ตรงกับความต้องการของเรามากขึ้น เช่น ผัก ผลไม้กินทุกวัน บางครั้งอาจจะเบื่อในรสชาติ หรือบางคนไม่ชอบทานผักผลไม้ หรือทานไม่เก่ง ก็สามารถนำมาทำเป็นเครื่องดื่มในรูปแบบต่าง ๆ ได้ เช่น น้ำผัก น้ำผลไม้ หรือแม้แต่น้ำสมุนไพรก็ด้วย ทั้งแบบสด หรือ บางครั้งนำมาตากแห้ง หรืออบแห้งเป็นชาสมุนไพร สำหรับการดื่มที่ดี ของน้ำผัก ผลไม้ หรือ สมุนไพร ก็ดี ควรดื่มแบบชิมช้า ๆ และควรดื่มทันทีหลังปรุงเสร็จ เพราะจะยังคงคุณค่าทางอาหาร ยา ได้ดีมากกว่า ทิ้งไว้นาน ๆ แล้ว เพราะจะทำให้คุณค่าลดลง ทั้งยังคงกลิ่น และรสตามธรรมชาติของสมุนไพรนั้น ๆ ได้อย่างดี 

ถ้าพูดถึงสมุนไพร คนส่วนใหญ่มักจะนึกถึงส่วน ของพืชที่นำมาใช้เป็นยารักษาโรค แต่ในความเป็นจริงและ การนำมาทำเป็นเครื่องดื่มน้ำสมุนไพร น้ำผลไม้ น้ำผัก หรือชาสมุนไพร ล้วนแล้วแต่จะทำให้ร่างกายกระชุ่ม กระชวย มีชีวิตชีวา คลายร้อน คลายเครียด และยังช่วยลดสารพิษในร่างกาย คุณค่าอันมากมายเหล่านี้ทุกคนล้วนหาได้ไม่ยาก ที่สำคัญดื่มแล้วยัง ช่วยทำให้ผู้ดื่มมีสุขภาพดีขึ้นด้วย

เมื่อรู้ถึง ประโยชน์ดี ๆ เหล่านี้ ทุกท่านคงไม่อยากมองข้าม น้ำสมุนไพร ไปใช่มั้ย? และจะดีแค่ไหน ถ้าได้เลือกดื่มเครื่องดื่มสมุนไพร ที่เหมาะสมกับสมดุลร่างกายของคุณด้วย เพื่อให้ทุกการดื่มน้ำสมุนไพร ในทุก ๆ ครั้ง มีคุณประโยชน์แบบทวีคูณนั่นเอง 

5 เครื่องดื่มสมุนไพร ที่มีฤทธิ์ร้อน ช่วยปรับสมดุลร่างกายที่มีสภาวะเย็น [3] [5]

1. น้ำขิง เข้มข้น
ขิง เป็นพืชที่มีความสำคัญทางอาหารเพราะมีธาตุฟอสฟอรัสและวิตามิน เอ สูง ขิงสามารถนำมาใช้ได้หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นราก เหง้า ต้น ใบ ดอก แก่น ผล ทั้งหมดช่วยบรรเทาอาการคลื่นไส้ ช่วยแก้อาการเมารถ  เมาเรือ อาการแพ้ท้อง ช่วยบรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ช่วยขับลม ฤทธิ์ในการกระตุ้น การขับน้ำดี ในการช่วยย่อยอาหาร และสลายไขมัน ต้านการอักเสบ ฆ่าเชื้อโรค นอกจากขิงสามารถนำมาใช้เป็นยาสมุนไพร เพื่อรักษาโรคชนิดต่าง ๆ แล้ว และยังนำมาปรุงอาหาร และนำมาเป็นเครื่องดื่มสมุนไพร แก้ไอ สำหรับชงดื่ม ได้อีกด้วย
 

สูตรเครื่องดื่ม ขิงเข้มข้น 
ส่วนผสม
  • ขิงแก่ทุบพอแหลก 
  • น้ำตาลทราย หรือ สารให้ความหวานธรรมชาติ 
  • น้ำเปล่า 
 วิธีทำ
  1. ตัดส่วนที่สกปรกของขิงออก แล้วนำมาล้างในน้ำสะอาดหลาย ๆ รอบ จนกว่าดินจะหลุดออก ล้างให้สะอาดทุกส่วน
  2. นำขิงมาห่อด้วยผ้าขาวบาง ทุบขิงด้วยสากให้พอแตก เพื่อให้น้ำมันหอมระเหยของขิงออกมา 
  3. ตั้งไฟ ต้มน้ำให้เดือด แล้วนำขิงลงไปต้ม ประมาณ 20 นาที
  4. เติมน้ำตาลลงในหม้อ คนจนน้ำตาลละลาย ต้มต่อจนเดือด (เพื่อสุขภาพที่ดี เลือกเป็น สารให้ความหวานจากธรรมชาติแทนน้ำตาล เช่น หญ้าหวาน)
  5. จากนั้นปิดเตา และปิดฝาหม้อทิ้งไว้ 30-60 นาที
  6. นำน้ำขิงมากรองด้วยผ้าขาวบางแล้ว ใส่ขวดหรือภาชนะที่ใช้เก็บไว้ดื่ม
(หรือเพื่อประหยัดเวลา และไม่ต้องหาวัตถุดิบ ไม่ยุ่งยากกับขั้นตอนการต้ม สามารถเลือกฮอทต้า ขิง100% เป็นอีก1 ตัวเลือก)


2. น้ำดอกคำฝอย 
ดอกคำฝอย เป็นสมุนไพรไทยที่ได้รับความนิยมนำมาทำเป็นเครื่องดื่ม โดยเฉพาะผู้ที่ดูแลสุขภาพจะรู้จักดี ดอกคำฝอย มีสรรพคุณโดดเด่นก็คือ ช่วยในเรื่องของการบำรุงโลหิต ลดความดันโลหิตสูง ลดไขมัน หรือลดปริมาณคลอเรสเตอรอลในเส้นเลือด ป้องกันไม่ให้ไขมันอุดตันในเส้นเลือดนั่นเอง แถมยังช่วยขับเหงื่อ และยังช่วยเป็นยาระบายอ่อน ๆ อีกด้วย ลองนำมาทำเป็นน้ำสมุนไพร ก็จะดื่มง่ายและดีต่อสุขภาพแล้ว เพื่อให้ทานง่ายขึ้น ต้มคู่กันกับดอกเก๊กฮวย ก็จะยิ่งได้ประโยชน์แบบ คูณสอง และยังหอมกลิ่นดอกเก๊กฮวยที่เพิ่มเข้าไปอีกด้วย
 

สูตรเครื่องดื่มสมุนไพร ดอกคำฝอย เก๊กฮวย
ส่วนผสม
  • ดอกคำฝอยแห้ง 
  • ดอกเก๊กฮวยแห้ง 
  • น้ำตาล ปริมาณตามความชอบ (เพื่อสุขภาพที่ดี เลือกเป็น สารให้ความหวานจากธรรมชาติแทนน้ำตาล เช่น หญ้าหวาน)
  • น้ำเปล่า
วิธีทำ
  1. ใส่น้ำเปล่าลงในหม้อ นำขึ้นตั้งไฟแรง 
  2. ใส่ดอกคำฝอยแห้ง และดอกเก๊กฮวยลงต้มจนเดือด สังเกตุจนน้ำเริ่มเปลี่ยนสี ลดไฟอ่อนลง ต้มต่ออีกสักครู่ 
  3. ยกลงจากเตา กรองเอากากออก ด้วยผ้าขาวบาง เตรียมไว้
  4. เติมน้ำตาล ตามชอบ คนจนน้ำตาลละลาย (เพื่อสุขภาพที่ดี เลือกเป็น สารให้ความหวานจากธรรมชาติแทนน้ำตาล เช่น หญ้าหวาน) 
  5. ตักน้ำคำฝอยเก๊กฮวย ใส่แก้วพร้อมดื่ม หรือ สามารถเติมน้ำแข็งได้ หากต้องการดื่มแบบเย็น


3. น้ำขมิ้นชัน
ขมิ้นชัน เป็นพืชล้มลุก จัดอยู่ในตระกูลขิง มีเหง้าอยู่ใต้ดิน เนื้อในของเหง้าจะมีสีเหลือง มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว มีตั้งแต่สีเหลืองเข้มจนถึงสีแสดจัด ขมิ้นชันอุดมไปด้วยวิตามิน และแร่ธาตุหลายชนิด เช่น วิตามินเอ, วิตามินบี 1, วิตามินบี 2, วิตามินบี 3, วิตามินซี, วิตามินอี, แคลเซียม, ฟอสฟอรัส, ธาตุเหล็ก และเกลือแร่ต่าง ๆ รวมไปถึงเส้นใย คาร์โบไฮเดรต และโปรตีน สรรพคุณของขมิ้นชัน ช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ ช่วยชะลอวัย ชะลอการเกิดริ้วรอย ช่วยบำรุงเลือดลม ปรับระบบสืบพันธุ์ของผู้หญิง ช่วยให้ประจำเดือนมาปกติ ส่งเสริมการมีบุตร บำรุงระบบทางเดินอาหาร และทางเดินหายใจ บำรุงผิว ลดการอักเสบ รักษาอาการแพ้ และไข้หวัด ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล น้ำมันหอมระเหยในขมิ้นชัน ยังช่วยบรรเทาอาการปวดท้องอีกด้วย
 

สูตรเครื่องดื่มสมุนไพร ขมิ้นชัน 
ส่วนผสม
  • ขมิ้นสด 
  • น้ำตาลกรวด (เพื่อสุขภาพที่ดี เลือกเป็น สารให้ความหวานจากธรรมชาติแทนน้ำตาล เช่น หญ้าหวาน)
  • น้ำผึ้ง
  • น้ำสะอาด
วิธีทำ
  1. นำส่วนของเหง้าขมิ้นชัน ขูดเอาเปลือกออก และนำไปล้างน้ำให้สะอาด 
  2. ตำให้แหลก เติมน้ำแล้วคั้น กรองด้วยผ้าขาวบาง เอาแต่น้ำ
  3. นำน้ำสะอาด และ น้ำขมิ้นที่คั้นไว้ มาต้ม ใช้ไฟกลาง 
  4. เติมน้ำตาลกรวด และ น้ำผึ้ง ตามชอบ (เพื่อสุขภาพที่ดี เลือกเป็น สารให้ความหวานจากธรรมชาติแทนน้ำตาล เช่น หญ้าหวาน)
  5. ปิดไฟ พักไว้พออุ่น ตักใส่แก้วดื่ม


4. น้ำตะไคร้
ตะไคร้ จัดเป็นพืชล้มลุกตระกูลหญ้า ใบมีลักษณะเรียวยาว ปลายใบมีขนหนาม เป็นสมุนไพรไทยชนิดหนึ่งที่นิยมนำมาประกอบอาหาร ตะไคร้ เป็นทั้งยารักษาโรคและยังมีทั้งวิตามินเอ แคลเซียม ธาตุฟอสฟอรัส  ธาตุเหล็ก ฯลฯ ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย มีส่วนช่วยในการขับน้ำดีที่ช่วยในการย่อยอาหาร ช่วยรักษาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ช่วยขับเหงื่อ แก้และบรรเทาอาการหวัด อาการไอ น้ำมันหอมระเหยของใบตะไคร้ สามารถบรรเทาอาการปวดได้

ใบเตย เป็นสมุนไพรที่มีกลิ่นหอม มีวิตามินและแร่ธาตุหลากหลาย ทั้งยังมีคาร์โบไฮเดรต และ โปรตีน เป็นสมุนไพรฤทธิ์เย็น ช่วยให้ร่างกาย รู้สึกสดชื่น คลายความเหนื่อยล้า ยังมีฤทธิ์ ช่วยขับพิษ 
ทั้งนี้ คนจึงนิยม นำมาทำเป็นเครื่องดื่มสมุนไพรคู่กัน เพราะนอกจากหอมอร่อยแล้ว ตะไคร้ใบเตยยังมีสรรพคุณ อัดแน่น ทั้งช่วยแก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ขับลม จุกเสียดในช่องท้อง ช่วยให้ระบบย่อยอาหารดีขึ้น ส่วนช่วยลดน้ำตาลในเลือด บำรุงหัวใจ ป้องกันโรคมะเร็ง ช่วยบำรุงผิว ช่วยลดน้ำหนัก ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกัน
 

สูตรเครื่องดื่มสมุนไพร น้ำตะไคร้ใบเตย
ส่วนผสม 
  • ตะไคร้ 
  • ใบเตย 
  • น้ำตาลทราย (เพื่อสุขภาพที่ดี เลือกเป็น สารให้ความหวานจากธรรมชาติแทนน้ำตาล เช่น หญ้าหวาน)
  • เกลือป่น
  • น้ำเปล่า 
วิธีทำ
  1. นำตะไคร้ และ ใบเตย มาล้างทำความสะอาด
  2. หั่นตะไคร้เป็นท่อนสั่น ๆ (ใช้แค่ส่วนต้น) แล้วบุบให้พอแตก
  3. นำใบเตยมาหั่นเป็นท่อน ๆ
  4. นำหม้อขึ้น ต้มน้ำด้วยไฟแรง จนน้ำเดือดจัด
  5. ใส่ตะไคร้ และ ใบเตยลงไป กดให้จมน้ำ ใช้ไฟอ่อน ต้มต่ออีก 30 นาที
  6. ตักตะไคร้และใบเตยออก แล้วใส่น้ำตาลทราย และเกลือลงไป แล้วคนให้น้ำตาลทรายละลายดี (เพื่อสุขภาพที่ดี เลือกเป็น สารให้ความหวานจากธรรมชาติแทนน้ำตาล เช่น หญ้าหวาน)
  7. ต้มจนน้ำเดือดอีกรอบ ปิดแก๊สแล้วพักให้เย็นสนิท
  8. นำน้ำตะไคร้ใบเตย มากรองด้วยผ้าขาวบางอีกรอบ ตักใส่แก้วดื่มได้ทันที หรือ สามารถเติมน้ำแข็งได้ หากต้องการดื่มแบบเย็น สามารถตักใส่ขวดแล้วแช่ตู้เย็นดื่มภายหลังได้


5. น้ำกระชาย
กระชายขาว เป็นพืชที่มีรสเผ็ดร้อน คนไทยมักจะนำมาใช้สำหรับประกอบอาหาร และ ใช้เป็นยารักษาโรค เพราะมีสรรพคุณในการดูแลรักษาร่างกายหลายอย่าง เช่น ช่วยลดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ช่วยขับลม บำรุงธาตุ ขับน้ำคาวปลา ขับปัสสาวะ ช่วยให้เจริญอาหาร ช่วยบำรุงหัวใจ บำรุงกระดูก เอ็น และ การศึกษาทางเภสัชวิทยา ยังพบว่ากระชายขาว มีฤทธิ์สำคัญในการยับยั้งเซลล์มะเร็ง และฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และเมื่อไม่นานมานี้ยังได้มีการค้นพบสารที่มีอยู่ในกระชายขาว คือ สารแพนดูราทินเอ และสารพิโนสโตรบิน ซึ่งเป็นสารสำคัญที่มีผลในการยับยั้งเชื้อไวรัส COVID-19 ด้วย
 

สูตรเครื่องดื่มมสุนไพร กระชายขาว น้ำผึ้ง มะนาว(สูตรดื่มง่าย)
ส่วนผสม
  • กระชายขาว 
  • นํ้าผึ้ง 
  • นํ้ามะนาว 
  • เกลือป่น 
  • นํ้าเปล่า
วิธีทำ
  1. ดึงหัวกระชายออก จากนั้นล้างกระชายให้สะอาด 
  2. นำกระชายแช่น้ำเกลือ 10 นาที แล้วล้างอีกครั้ง ด้วยน้ำสะอาด
  3. หั่นกระชาย เป็นท่อน ๆ
  4. นำกระชายมาปั่น กับน้ำต้มสุก จนละเอียด 
  5. กรองด้วยผ้าขาวบาง โดยคั้นเอาแต่น้ำ ตักฟองออก (เพราะฟองทำให้น้ำมีรสขม) จนได้น้ำกระชายที่ใส ไม่มีฟอง หรือกากของกระชาย
  6. ตักใส่แก้วพอดื่ม นำน้ำมะนาว และน้ำผึ้ง ผสมลงไปปริมานตามชอบ พร้อมดื่ม


5 เครื่องดื่มสมุนไพร ที่มีฤทธิ์เย็น ช่วยปรับสมดุลร่างกายที่มีสภาวะร้อน [3] [4]

1. กระเจี๊ยบแดง 
กระเจี๊ยบแดง เป็น สมุนไพรที่มีฤทธิ์เย็นดับร้อน มีสรรพคุณที่ดีต่อร่างกาย ทั้งช่วยขับปัสสาวะ บำรุงกำลัง แก้อาการอ่อนเพลีย แก้ไอ และ ช่วยลดอุณหภูมิของร่างกาย ได้อีกด้วย 
 

สูตรเครื่องดื่มสมุนไพร น้ำกระเจี๊ยบ
ส่วนผสม
  • กระเจี๊ยบแห้ง  
  • น้ำตาลทราย (เพื่อสุขภาพที่ดี เลือกเป็น สารให้ความหวานจากธรรมชาติแทนน้ำตาล เช่น หญ้าหวาน)
  • เกลือป่น 
  • น้ำสะอาด 
วิธีทำ
  1. นำดอกกระเจี๊ยบแห้ง มาล้างฝุ่นออกให้สะอาด และสะเด็ดน้ำให้แห้ง
  2. ตั้งไฟแรง ต้มน้ำจนเดือด ใส่เกลือ และดอกกระเจี๊ยบแห้งที่เตรียมไว้ 
  3. ต้มประมาณ 20 นาที โดยใช้ไฟกลาง เมื่อน้ำออกเป็นสีแดงสด หรือดูสีดอกกระเจี๊ยบที่ต้ม สีซีดลง ก็ตักดอกกระเจี๊ยบออกได้เลย 
  4. ใส่น้ำตาลทรายลงไป คนให้ละลาย ลองชิมรสเติมหวานเค็มได้ตามชอบ (เพื่อสุขภาพที่ดี เลือกเป็น สารให้ความหวานจากธรรมชาติแทนน้ำตาล เช่น หญ้าหวาน)
  5. นำมากรองด้วยผ้าขาวบาง ทิ้งไว้จนเย็น
  6. ตักใส่แก้ว เติมน้ำแข็ง ดื่มแบบเย็นเพื่อความสดชื่น และ สามารถตักใส่ขวดแล้วแช่ตู้เย็นดื่มภายหลังได้


2. เก๊กฮวย
เก๊กฮวย เป็นไม้ล้มลุก มีทั้งดอกเก๊กฮวยสีเหลือง และดอกเก๊กฮวยสีขาว โดยส่วนใหญ่ จะนิยมเก็บดอกมาตากแห้ง นึ่ง หรืออบแห้ง แล้วนำมาทำเป็นเครื่องดื่มสมุนไพร การใช้ดอกเก๊กฮวยให้เป็นประโยชน์เพื่อสุขภาพ ในปัจจุบันจะนิยมนำดอกเก๊กฮวยแห้ง มาต้มเป็นน้ำสมุนไพร หรือจิบเป็นชาสมุนไพร มากกว่าจะนำดอกเก๊กฮวยมาใช้ภายนอก เก๊กฮวยมีฤทธิ์เย็น เมื่อดื่มแล้ว นอกจากแก้กระหายได้ดี ยังแก้อาการร้อนใน แก้ไข้ ช่วยให้ระบบย่อยอาหาร มีฤทธิ์ลดระดับความดันโลหิต ช่วยบรรเทาอาการปวดหัว วิงเวียนศีรษะ
 

สูตรเครื่องดื่มสมุนไพร น้ำเก๊กฮวย พุทราจีน 
ส่วนผสม
  • ดอกเก๊กฮวยแห้ง 
  • เม็ดกีจี้ (พุทราจีน) 
  • น้ำตาลทราย (เพื่อสุขภาพที่ดี เลือกเป็น สารให้ความหวานจากธรรมชาติแทนน้ำตาล เช่น หญ้าหวาน)
  • น้ำเปล่า 
วิธีทำ
  1. นำดอกเก๊กฮวยแห้ง  พุทราจีน ล้างน้ำให้สะอาด และทุบพุทราจีน ให้พอแหลก
  2. ตั้งไฟแรงต้มน้ำเปล่าให้เดือด จากนั้นใส่ดอกเก๊กฮวยและเม็ดกีจี้ลงไป 
  3. ใช้ไฟกลาง เคี่ยวต่อประมาณ 5 นาที
  4. เติมน้ำตาลทรายลงไป ชิมรสตามใจชอบ (เพื่อสุขภาพที่ดี เลือกเป็น สารให้ความหวานจากธรรมชาติแทนน้ำตาล เช่น หญ้าหวาน) เคี่ยวต่อให้น้ำตาลละลายดี 
  5. จากนั้นปิดไฟ กรองดอกเก๊กฮวย และเม็ดพุทราจีนออก ด้วยผ้าขาวบาง 
  6. ตักใส่แก้ว เติมน้ำแข็ง ดื่มแบบเย็น หรือนำไปแช่เย็นไว้ดื่มภายหลัง


3. น้ำใบเตย ว่านหางจระเข้
ใบเตย เป็นสมุนไพรที่มีกลิ่นหอม มีเบต้าแคโรทีน, วิตามินซี, วิตามินบี 2, วิตามินบี 3, ธาตุแคลเซียม, ธาตุเหล็ก, ธาตุฟอสฟอรัส ทั้งยังมีคาร์โบไฮเดรต และ โปรตีน เป็นสมุนไพรฤทธิ์เย็น ช่วยให้ร่างกาย รู้สึกสดชื่น คลายความเหนื่อยล้า ยังมีฤทธิ์ ช่วยขับพิษ ลดไข้ ช่วยรักษาโรคเบาหวาน และ ช่วยปรับสมดุลของร่างกายด้วย

ว่านหางจระเข้ เป็นพรรณไม้ล้มลุก สรรพคุณในการรักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก แผลสด ช่วยบรรเทาอาการปวดแสบปวดร้อน สารที่สามารถใช้รักษาแผล มีวิตามินและแร่ธาตุ รวมไปถึงกรดอะมิโนอีกหลายชนิดที่จำเป็นและมีประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น แมกนีเซียม, แมงกานีส, โพแทสเซียม, โครเมียม, ซีลีเนียม, วิตามินซี, วิตามินเอ, วิตามิอี, วิตามินบี 1, วิตามินบี 2, วิตามินบี 3, วิตามินบี 6, วิตามินบี 9, โคลีน และยังมีวิตามินบี 12 ที่พบได้จากพืชจำนวนน้อย ยังช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ ช่วยชะลอความแก่ชรา ช่วยรักษาแผลในกระเพาะอาหาร ลดการเกิดแผลในกระเพาะขณะท้องว่าง และ ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรค  

ใบเตย และ ว่านหางจระเข้ เป็นสมุนไพรฤทธิ์เย็น ทั้งคู่ และ เมื่อนำสมุนไพร ทั้ง 2 อย่างนี้ มารวมกันเป็นเครื่องดื่มสมุนไพร นอกจากจะได้ประโยชน์มาก ๆ แล้ว ยังหอย อร่อย มาก ๆ อีกด้วย
 

สูตรเครื่องดื่มสมุนไพร น้ำใบเตย ว่านหางจระเข้
ส่วนผสม
  • ใบเตย  
  • ว่านหางจระเข้ 
  • น้ำตาลทราย (เพื่อสุขภาพที่ดี เลือกเป็น สารให้ความหวานจากธรรมชาติแทนน้ำตาล เช่น หญ้าหวาน)
  • เกลือ 
  • น้ำสะอาด
วิธีทำ
  1. นำว่านหางจระเข้ จากนั้นปลอกเปลือกส่วนสีเขียวออก และหั่นเป็นชิ้น ๆ
  2. นำมาล้างน้ำสะอาด จนเมือกหลุดออกจนหมด ประมาณ 2-3 น้ำ 
  3. จากนั้นใส่เกลือลงไปขยำประมาณ 2-3 รอบจนเมือกหมด
  4. ตั้งไฟ ใส่น้ำลงในหม้อ ใส่เกลือลงไปเล็กน้อย นำว่านหางจระเข้ใส่ลงไป ต้มให้เดือดประมาณ 10 นาที สังเกตุเนื้อว่านหางจระเข้ ใสดี ตักออกล้างด้วยน้ำสะอาดอีกครั้ง
  5. นำมาหั่นเป็นเต๋า ชิ้นเล็ก ๆ พักไว้
  6. นำหม้ออีกใบ ตั้งไฟแรง ต้มน้ำจนเดือด ใส่เกลือ และขยำใบเตยใส่ลงไป ต้ม 20 นาที 
  7. ตักใบเตยออก เศษที่เหลือนำมากรองออกด้วยผ้าขาวบาง ให้เหลือแต่น้ำ ใส่น้ำตาลทรายลงไป(เพื่อสุขภาพที่ดี เลือกเป็น สารให้ความหวานจากธรรมชาติแทนน้ำตาล เช่น หญ้าหวาน)
  8. นำว่านหางจระเข้ที่เตรียมไว้ ใส่ลงหม้อน้ำใบเตย ต้มให้เดือดอีกครั้ง ปิดไฟ
  9. พักให้เย็นสนิท ตักใส่แก้ว เติมน้ำแข็ง ดื่มแบบเย็น หรือนำไปแช่เย็นไว้ดื่มภายหลัง


4. น้ำใบบัวบก
“ช้ำในให้ดื่มน้ำใบบัวบก” คำนี้ไม่เกินจริง เพราะใบบัวบก มีวิตามิน และแคลเซียมสูง ทั้งยังมีสรรพคุณเด่น ๆ คือ แก้ช้ำใน ใบบัวบกมีฤทธิ์เย็น ช่วยลดอาการอักเสบ อาการบวมต่าง ๆ ดับกระหาย คลายร้อน แก้อ่อนเพลีย แก้ปวดท้อง ช่วยบำรุงหัวใจ อีกทั้งยัง ช่วยลดความดัน ได้อีกด้วย 
 

สูตรเครื่องดื่มสมุนไพร น้ำใบบัวบก
ส่วนผสม
  • ใบบัวบก 
  • เกลือป่น 
  • น้ำตาลทราย (เพื่อสุขภาพที่ดี เลือกเป็น สารให้ความหวานจากธรรมชาติแทนน้ำตาล เช่น หญ้าหวาน)
  • น้ำต้มสุก 
วิธีทำ
  1. ตัดก้านใบบัวบกห่างจากโคน 2 นิ้ว นำมาล้างน้ำให้สะอาด แล้วแช่น้ำทิ้งไว้
  2. นำใบบัวบกมาหั่นหยาบ ๆ แล้วนำไปใส่ลงในเครื่องปั่น
  3. เติมน้ำต้มสุกลงไป และปั่นให้ละเอียด
  4. เทน้ำใบบัวบกที่ปั่นแล้ว กรองในกระชอน และ ผ้าขาวบางซ้อนกัน 2 ชั้น
  5. ใส่เกลือป่นลงไป ในน้ำใบบัวบกที่กรองไว้ แล้วนำมาแช่เย็นเก็บไว้
  6. นำน้ำตาล และน้ำเปล่า ตั้งไฟ นำมาเคี่ยวจนเป็นน้ำเชื่อมเข้มข้น 
  7. ใส่น้ำเชื่อมลงไปในน้ำใบบัวบก ที่กรองเรียบร้อยแล้ว คนจนเข้ากัน (เพื่อสุขภาพที่ดี เลือกเป็น สารให้ความหวานจากธรรมชาติแทนน้ำตาล เช่น หญ้าหวาน)
  8. ตักใส่แก้ว เติมน้ำแข็ง ดื่มแบบเย็น หรือนำไปแช่เย็นไว้ดื่มภายหลัง


5. น้ำมะตูม
มะตูม เป็นสมุนไพรฤทธิ์เย็นดับร้อน ในทางการแพทย์แผนไทย มักใช้มะตูมในการรักษาโรค เพราะในมะตูม มีสรรพคุณในด้านการรักษามากมาย ทั้งช่วยในการย่อยอาหาร ขับลมในท้อง แก้อาการท้องเสีย รักษาแผลในกระเพาะอาหาร ขับเสมหะ และ แก้อาการกระหายน้ำได้ดี
 

สูตรเครื่องดื่มสมุนไพร น้ำมะตูม
ส่วนผสม
  • มะตูมแห้ง 
  • น้ำตาลทราย (เพื่อสุขภาพที่ดี เลือกเป็น สารให้ความหวานจากธรรมชาติแทนน้ำตาล เช่น หญ้าหวาน)
  • น้ำเปล่า
วิธีทำ 
  1. นำมะตูมแห้ง ไปปิ้งไฟ จนมีสีเหลืองจัด
  2. ตั้งไฟ ต้มน้ำให้เดือด ใส่มะตูมลงไป เคี่ยวสักพัก
  3. เติมน้ำตาลทรายลงไป แล้วคนให้ละลายเข้ากัน ชิมรสตามใจชอบ (เพื่อสุขภาพที่ดี เลือกเป็น สารให้ความหวานจากธรรมชาติแทนน้ำตาล เช่น หญ้าหวาน)
  4. ยกลงจากเตา กรองด้วยผ้าขาวบาง
  5. ตักใส่แก้ว เติมน้ำแข็ง ดื่มแบบเย็น หรือนำไปแช่เย็นไว้ดื่มภายหลัง

จากที่กล่าวในบทความนี้ ตั้งแต่ต้นจนถึงตอนนี้ หลาย ๆ ท่าน คงจะได้ทราบถึงคุณค่า และประโยชน์ของเครื่องดื่มสมุนไพรแล้วว่า มีมากมายจริง ๆ ทั้งประโยชน์ต่อร่างกายโดยตรง ทั้งอุดมไปด้วยวิตามิน เกลือแร่ และต้านอนุมูลอิสระ ที่ทำให้เกิดความเสื่อมของร่างกาย ช่วยให้เจริญอาหาร ผิวพรรณเปล่งปลั่ง ร่างกายกระชุ่มกระชวย ช่วยควบคุมระบบการทำงานของร่างกาย และยังมีเส้นใยอาหารมากมาย มีผลต่อระบบการย่อยอาหาร ให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ดูดซึมสารอาหารชนิดอื่นๆ ดีขึ้น และที่สำคัญ ช่วยเรื่องปรับสภาวะสมดุลในร่างกาย ไม่ให้ ร่างกายที่มีสภาวะร้อนเกินไป หรือ ร่างกายที่มีสภาวะเย็นเกินไป อีกด้วย

ข้อมูลอ้างอิง
[1] สภาวะร่างกายร้อน – เย็น
[2] สมุนไพรฤทธิ์ร้อน ฤทธิ์เย็น
[3] เครื่องดื่มสมุนไพรเพื่อสุขภาพ
[4] น้ำสมุนไพรฤทธิ์เย็น
[5] สมุนไพรฤทธิ์ร้อน
กลับ
27/09/2566
36,085
บทความอื่น ๆ ที่คุณอาจสนใจ